พระประจำปีเกิด


พระพุทธรูปปางประจำปี

               เรื่องราวพระพุทธประวัติ พระพุทธองค์ทรงมีพุทธจริยาที่สำคัญพอที่จะสร้างขึ้นมาเป็นพระพุทธรูป เพื่อเป็นที่สักการบูชาในแต่ละปี มักจะเรียงตามคตินักษัตรทั้ง ๑๒ ดังนี้

ปีชวด       พระปางโปรดอาฬวกยักษ์ หรือ ปางโปรดสัตว์

ปีฉลู         พระปางห้ามญาติ หรือปางโปรดพระพุทธมารดา

ปีขาล       พระปางโปรดพกาพรหม

ปีเถาะ       พระปางอธิษฐานเพศเป็นบรรพชิต หรือปางมหาภิเนษกรมณ์

ปีมะโรง     พระปางโปรดองคุลีมาล

ปีมะเส็ง     พระปางรับอุทกัง

ปีมะเมีย     พระปางสนเข็ม

ปีมะแม      พระปางประทานพร

ปีวอก        พระปางปฐมบัญญัติ

ปีระกา       พระปางทรงสุบิน, ปางรับมธุปายาส และปางเสวยมธุปายาส

ปีจอ         พระปางชี้อัครสาวก

ปีกุน         พระปางโปรดพญาชมพูบดี

..................................................................................



 ปีชวด      
พระปางโปรดอาฬวกยักษ์ หรือ ปางโปรดสัตว์


ลักษณะพระพุทธรูป


                พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ จีบพระองคุลีเป็นการแสดงธรรม พระหัตถ์ซ้ายคว่ำวางบนพระชานุ

ประวัติความเป็นมา

               สมัยหนึ่ง พระพุทธองค์เสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ในพระนครสาวัตถี แคว้นโกศล อันมี พระเจ้าปเสนทิโกศล เป็นกษัตริย์ผู้ปกครอง ในครั้งนั้น พระเจ้าอาฬวี กษัตริย์แห่งอาฬาวีนคร ทรงเป็นนักนิยมไพรถือการล่าสัตว์ป่าเป็นกิจวัตร

               วันหนึ่ง เป็นยามเคราะห์ร้ายของพระเจ้าอาฬวี พระองค์ทรงม้าพระที่นั่งไล่ตามกวาง พลัดจากกองทหาร ติดตามกวางไปพระองค์เดียว แม้ม้าพระที่นั่งจะวิ่งจนหมดกำลังแล้ว ก็เสด็จลงจากหลังม้าทรงวิ่งขับกวางต่อไปอีก แต่ไม่ทันกวาง ทรงอ่อนพระทัย จึงเสด็จเข้าไปพักภายใต้ร่มไทรใหญ่แห่งหนึ่ง แต่บังเอิญไม้ไทรนั้นอยู่ในเขตหวงห้ามของ อาฬวกยักษ์ ซึ่งได้รับประทานพรจากพระอิศวร ให้จับกินคนและสัตว์ที่พลัดเข้ามาในร่มไทรนี้ได้

                ดังนั้น พระเจ้าอาฬวี ก็ตกอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องตกเป็นอาหารของ อาฬวกยักษ์ด้วย แต่พระเจ้าอาฬวี มีความประสงค์จะรักษาพระชนม์ชีพไว้ก่อน จึงทรงขอผ่อนผันว่า ถ้าปล่อยให้พระองค์กลับพระนคร พระองค์ก็จะส่งคนมาเป็นอาหารอาฬวกยักษ์ วันละ ๑ คนทุกวัน อาฬวกยักษ์ ก็ยินดียอมปล่อยพระเจ้าอาฬวี ตามประสงค์ และเตือนให้รักษาสัญญาที่ทรงประทานไว้   เมื่อพระเจ้าอาฬวีเสด็จกลับถึงพระนครแล้ว ก็ทรงประชุมอำมาตย์ราชบริพาร ตรัสเล่าเรื่องของพระองค์ที่ถูกยักษ์จับและจะต้องส่งคนไปให้ อาฬวกยักษ์กินแทนวันละ ๑ คน

               ดังนั้น อำมาตย์ก็จัดการส่งนักโทษในเรือนจำไปให้ อาฬวกยักษ์วันละ ๑ คน จนนักโทษในเรือนจำหมด สุดท้ายตกลงให้ส่งเด็กไปให้วันละ ๑ คนอีก ในที่สุดหาเด็กไม่ได้ เพราะชาวเมืองพากันอพยพพาลูกหลานไปอยู่ต่างเมือง อำมาตย์ก็ต้องจับพระโอรสของ พระเจ้าอาฬวี ส่งไปบังเอิญในราตรีก่อนวันที่เจ้าพนักงานจะจัดส่งพระโอรสของ พระเจ้าอาฬวีนั้น พระพุทธเจ้าทรงทราบด้วยพระญาณ จึงทรงพระกรุณาเสด็จไปยังที่อยู่ของอาฬวกยักษ์ โดยมุ่งพระทัยจะทรงทรมาน อาฬวกยักษ์ให้สิ้นความดุร้าย

               ครั้น อาฬวกยักษ์กลับมาถึงวิมานในราตรีนั้น เห็นพระพุทธเจ้าก็โกรธด้วยมานะทิฏฐิแรงกล้า เห็นไปว่า พระสมณโคดม มาลบหลู่หมิ่นเกียรติของตน แทนที่จะค่อยพูดจาถามไถ่ถึงเหตุที่มาถึงที่อยู่ ในฐานะที่ตนเป็นเจ้าของ กลับโอหังตึงตังเข้าใส่พระพุทธองค์ ถึงกับใช้อาวุธร้ายแรงตามสันดานของพวกอสูรที่ไม่ใช้คุณธรรม   ด้วยพุทธานุภาพ อาวุธทุกชนิดที่ อาฬวกยักษ์ใช้กลับกลายมาเป็นเครื่องสักการบูชาพระพุทธเจ้าทั้งหมด 

               ในที่สุด ยักษ์ผู้ดุร้ายก็หมดฤทธิ์ หยุดราวี เพียงแต่ใช้วาจาเรียกพระพุทธองค์ให้ลุกออกจากวิมานของตนเสียพระพุทธองค์ได้ทรงพระกรุณาทำตามประสงค์ของ อาฬวกยักษ์ คือ จะให้ลุกก็ทรงลุก จะให้ออกไปก็เสด็จออกไป จะให้เข้าก็เสด็จเข้า จะให้นั่งที่ใดก็ประทับนั่งให้ตามประสงค์ ทำให้หัวใจของ อาฬวกยักษ์ ลดความโหดร้ายลง  ในที่สุด อาฬวกยักษ์ได้ทูลถามปัญหา พระพุทธองค์ได้ทรงพยากรณ์ปัญหาให้ อาฬวกยักษ์เกิดปัญญาเห็นแจ้งในธรรม สิ้นความโหดร้ายตั้งอยู่ในภูมิโสดาปัตติผล มอบตนลงเป็นทาสพระรัตนตรัย ตั้งมั่นอยู่ในอริยมรรค

               ราชบุรุษพระนครอาฬาวีอุ้มเอาพระราชกุมารโอรสของพระเจ้าอาฬวี มาให้อาฬวกยักษ์กินเป็นอาหาร อาฬวกยักษ์รับเอาพระกุมารแล้ว ก็น้อมเข้าถวาย พระพุทธองค์ พร้อมกับกราบทูลว่า   “ข้าพระองค์ขอน้อมถวายพระราชกุมารน้อยนี้ ซึ่งพระเจ้าอาฬวี ส่งมาเป็นอาหารของข้าพระองค์ ด้วยข้าพระองค์เว้นขาดจากเบญจเวรสิ้นเชิงแล้ว”

               พระพุทธองค์ทรงรับพระราชกุมาร แล้วตรัสอนุโมทนาแก่ อาฬวกยักษ์ทรงอวยพรแก่พระราชกุมารพร้อมกับประทานคืนแก่อำมาตย์ นำพระราชกุมารกลับคืนไปเมืองอาฬาวี เพื่อถวายแก่ พระเจ้าอาฬวี เมื่อความข้อนั้นทราบถึงเจ้าเมืองอาฬวีแล้ว ชาวเมืองทั้งสิ้นต่างก็มีความยินดี พากันจัดเครื่องสักการะต่างๆ นำไปบูชา ขณะเดียวกันพระพุทธองค์ก็ทรงพระกรุณาพาอาฬวกยักษ์มายังพระนครอาฬาวี

               พอถึงสถานที่ครึ่งทางสัญจรก็ได้พบชาวพระนคร มีพระเจ้าอาฬวี เป็นประมุขน้อมนำสักการะมาเฝ้าถวายอภิวาท พระพุทธองค์ก็ทรงหยุดประทับรับสักการบูชา พร้อมกับทรงประทานพระธรรมเทศนาโปรดชาวเมืองอาฬาวีให้เห็นทุกข์ เห็นโทษในเบญจธรรม ให้ชาวพระนครตั้งอยู่ในกัลยาณธรรมตามสมควรแก่วิสัย และปลุกให้ชาวเมืองเกิดความเมตตาปรานีกันทั่วหน้า ทั้งให้ชาวเมืองนับถือบูชา อาฬวกยักษ์ประหนึ่งว่าเป็นเทพารักษ์หลักพระนครเมื่อประทานธรรมคุณากรสิ้นสุดลงพระพุทธองค์ก็เสด็จกลับพระเชตวันมหาวิหาร
               พระพุทธจริยาตอนโปรดอาฬวกยักษ์นี้นั่นเองเป็นบุพนิมิตเหตุให้สร้างพระพุทธรูปที่เรียกว่า ปางโปรดอาฬวกยักษ์ หรือ ปางโปรดสัตว์



        ปีฉลู        
พระปางห้ามญาติ หรือปางโปรดพระพุทธมารดา
ลักษณะพระพุทธรูป

          พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถ นั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระชานุ พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ จีบพระองคุลี เป็นกิริยาแสดงธรรมโปรด บางทีทำเป็นรูปพระหัตถ์กวัก คือ งอพระองคุลีลง เล็กน้อย เป็นกิริยากวักให้เข้ากับเรื่องว่า ทรงกวักพระหัตถ์ตรัสเรียกพระมารดาให้เข้ามานั่งใกล้ เพื่อรับพระธรรมเทศนาที่ตั้งพระทัยเสด็จมาโปรด

ประวัติความเป็นมา

          ขณะที่พระพุทธเจ้ากำลังแสดงยมกปาฏิหาริย์อยู่นั้น ได้ทรงรำพึงขึ้นว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีต หลังจากทรงทำยมกปาฏิหาริย์แล้ว ได้เสด็จไปจำพรรษาที่ไหนหนอ แล้วก็ทรงทราบด้วยพระญาณว่า พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ เมื่อทรงทำปาฏิหาริย์แล้ว ย่อมเสด็จขึ้นไปจำพรรษาในดาวดึงส์พิภพ แสดงธรรมโปรดพระพุทธมารดา แล้วพระองค์ก็ทรงดำริว่า พระองค์ก็ควรจะเสด็จไปโปรดพระพุทธมารดาในดาวดึงส์สวรรค์เช่นกัน

          ดังนั้น เมื่อทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์เสร็จแล้ว จึงเสด็จจากพระแท่นจงกรมแก้ว บนยอดไม้คัณฑามพฤกษ์ที่แสดงยมกปาฏิหาริย์นั้น เสด็จขึ้นไปเทวพิภพชั้นดาวดึงส์ทันที โดยทรงยกพระบาทขวาขึ้นจากจงกรมแล้ว ก้าวขึ้นเหยียบยอดภูเขายุคันธร แล้วยกพระบาทซ้ายก้าวขึ้นเหยียบยอดภูเขาสิเนรุแล้วเสด็จขึ้นประทับบนแท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ภายใต้ร่มไม้ปาริชาตในสรวงสวรรค์

          การเสด็จไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ของพระพุทธองค์ในเวลาเสร็จการแสดงยมกปาฏิหาริย์โดยฉับพลัน ซึ่งมหาชนทั่วทุกทิศกำลังใส่ใจแลดูอยู่ด้วยความเลื่อมใส จึงนับเป็นเหมือนเดือนตกหรือตะวันตกหายไปจากโลก เป็นสิ่งที่น่าเสียดายยิ่งนัก

          เพราะฉะนั้น ชนทั้งหลายจึงพากันคร่ำครวญว่า พระศาสดาผู้เป็นเลิศในโลกเสด็จไปเขาคิชฌกูฏ หรือเขาไกรลาส หรือเขายุคันธรหนอ พวกเราจึงไม่เห็นพระองค์  ชนเหล่านั้นได้พากันเข้าไปถาม พระมหาโมคคัลลานเถระ ว่า
พระศาสดาเสด็จ ไปที่ไหนเสียเล่าพระคุณเจ้า
          พระมหาโมคคัลลานเถระแม้จะรู้ดีอยู่ แต่เพื่อถวายความเคารพแก่ พระอนุรุทธเถระ จึงได้บอกแก่มหาชนเหล่านั้นว่า พวกท่านจงไปถาม พระอนุรุทธเถระเถิด คนเหล่านั้นจึงพากันเข้าไปถาม พระอนุรุทธเถระ             พระอนุรุทธเถระ ตอบว่า พระศาสดาเสด็จขึ้นไปจำพรรษาในสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อแสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา
          เมื่อไรจักเสด็จลงมาเล่า พระคุณเจ้า?”
          สามเดือน อุบาสก พระเถระบอก
          และจะเสด็จมาในวันมหาปวารณาด้วย
          คนเหล่านั้นปรึกษากันว่า พวกเราจักรอเฝ้าพระพุทธองค์อยู่ ณ ที่นี้ แหละหากไม่ได้เห็นพระพุทธองค์แล้ว ก็จักไม่ไป แล้วจัดแจงทำที่พักอยู่
หัตถ์ซ้าย อยู่ในอาการสังวร ประทับยืนอยู่บนเศียรพกาพรหม ซึ่งมีมือถือศาสตราวุธครบทั้ง ๘ มือ ประทับอยู่บนหลังโคอุสภราช
เมื่อท้าวสักกเทวราชได้ทอดพระเนตรเห็นพระพุทธองค์เสด็จขึ้นมาประทับ ณ พระแท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ อันเป็นแท่นที่ประทับของพระอินทร์ ก็เกิดความยินดี ป่าวประกาศให้เทพยดาทั้งหลายได้ทราบทั่วกัน ต่างก็รีบมาเฝ้าพระพุทธเจ้าในทันใดนั้นมากมาย

เมื่อพระพุทธเจ้ามิได้ทอดพระเนตรเห็นพระพุทธมารดา จึงตรัสถาม ท้าวโกสีย์สักกเทวราช ท้าวโกสีย์ จึงทูลขอประทานโอกาสพระพุทธเจ้าขึ้นไปเฝ้าเทพธิดาเจ้าสิริมหามายาในสวรรค์ชั้นดุสิต ทูลเชิญให้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้ายังที่ประทับ ณ บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ พระพุทธมารดาก็เสด็จลีลาศด้วยความโสมนัสลงไปเฝ้าพระพุทธองค์เมื่อถึงก็ทรงประณตอัญชลี แล้วทรงประทับยังแท่นที่อันงามวิจิตร ท่ามกลางเทพยดาทั่วทุกทิศที่เข้ามาสถิตเฝ้าพระพุทธองค์อยู่เป็นจำนวนมาก

ต่อจากนั้น พระพุทธเจ้าจึงยกพระหัตถ์เบื้องขวาออกจากจีวรกวักเรียกพระพุทธมารดาว่า
"เอหิ อมฺม ขอพระแม่เจ้าผู้ได้อุ้มท้องประคับประคองและเลี้ยงดูด้วยน้ำนมและข้าวป้อนแต่อเนกชาติ
ตถาคตขอโอกาสโปรดสนองพระคุณ  ซึ่งสูงด้วยค่าหาประมาณมิได้  ด้วยพระอภิธรรมเทศนา"
 แล้วพระพุทธองค์ก็เริ่มแสดงธรรมโปรดพระพุทธมารดา ถ้วนไตรมาสทุกเวลา ให้พระพุทธมารดาได้บรรลุอริยมรรคผล สมดังกมลที่ทรงพระอุตสาหะเสด็จมา
          พระพุทธจริยาตอนนี้ เป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูป ที่เรียกว่า ปางโปรดพุทธมารดา



       ปีขาล       
พระปางโปรดพกาพรหม


ลักษณะพระพุทธรูป

            พระพุทธรูปปางนี้  อยู่ในพระอิริยาบถยืน  ทอดพระเนตรลงเบื้องต่ำ  พระหัตถ์ทั้งสองประสานอยู่ระหว่างพระเพลา  โดยพระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย อยู่ในอาการสังวร ประทับยืนอยู่บนเศียรพกาพรหม ซึ่งมีมือถือศาสตราวุธครบทั้ง ๘ มือ ประทับอยู่บนหลังโคอุสภราช
ประวัติความเป็นมา

          ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ ป่าสุภควัน ทรงทราบความปริวิตกของท้าวพกาพรหม ว่า ท้าวพกาพรหม กำลังจะจมลงในห้วงแห่งสัสสตทิฏฐิ คือ เห็นผิดคิดไปว่า สิ่งทั้งหลายเป็นของเที่ยงแท้ไม่แปรผัน จะเป็นอะไรก็เป็นอยู่อย่างนั้นไม่เปลี่ยนแปลง

          ความคิดเห็นอันนี้เกิดขัดแย้งต่อหลักปฏิบัติของพระพุทธเจ้า ที่ตรัสสอนว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน ทำกรรมดีและชั่วย่อมจะให้ผลเป็นสุขและทุกข์ตามสนองตามโอกาส ไม่มีสิ่งใดจะขัดขืนอำนาจของกรรมนั้นได้ ทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลงไปตามอำนาจของกรรม และสังขารทั้งหลายก็ย่อมเป็นไปในหลัก ไตรลักษณะ คือ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา หาเป็นอย่างที่ พกาพรหมเข้าใจหรือดำริไม่ จึงสมควรที่พระพุทธองค์จักประทานพระสัทธรรมโปรด ให้ละทิฏฐิอันเป็นโทษนั้นเสีย

          แล้วพระพุทธองค์ก็ทรงทำปาฏิหาริย์ขึ้นไปยังพรหมโลก เพื่อประทานธรรมวิโมกข์ด้วยพระมหากรุณา แล้วเสด็จพุทธลีลาไปยังวิมานอันเป็นนิวาสสถานที่อยู่ของ พกาพรหม ผู้เป็นทิฏฐิวิบัติ เมื่อ พกาพรหม ได้เห็นพระพุทธองค์เสด็จมา ยังวิมานประทับ ณ พระแท่นอันวิจิตรตระการแล้วแสดงออกซึ่งอหังการมมังการด้วยอำนาจ ทิฏฐิว่า
          ข้าแต่พระสัมมาสัมพุทธะ ที่พระองค์ตรัสสอนว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นภัย เห็นจะผิด ข้าพระองค์เห็นว่า ทุกสิ่งจะต้องดำรงคงสภาพอยู่เป็นนิตย์นิรันดร์ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่จำต้องแสวงหาธรรมอันใดมาปรุงแต่งให้เกิดสุขปลดเปลื้องสรรพทุกข์แต่ประการใด ถ้าไปคิดเห็นว่าเป็นทุกข์ ทุกข์ก็เกิด หากคิดเห็นว่าเป็นสุข สุขก็เกิด ไม่เดือดร้อนแต่ประการใดเลย

          พระพุทธองค์จึงตรัสว่า
          ดูกร พกาพรหม ท่านอยู่ในพรหมโลกเสียเคย จึงมองไม่เห็นความทุกข์ เพราะมัวเมาอยู่ในความสุขสำราญ ทั้งขาดวิจารณญาณเพ่งพินิจ จึงทำให้หลงผิดคิดไปว่า สิ่งทั้งหลายเป็นของเที่ยงแท้ถาวร ความจริงแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างนะมั่นคงถาวรไม่ได้เลย จะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามอำนาจแห่งเหตุ ทุกสิ่งต้องตกอยู่ในอำนาจแห่งกรรมเป็นผู้บันดาล

          พกาพรหม ได้สดับดังนั้นก็โต้แย้งว่า
          หามิได้ สิ่งทั้งปวงบรรดามีในโลกธาตุนี้ ย่อมเกิดแต่อำนาจของมหาพรหมผู้เสกสร้างขึ้นมาทั้งสิ้น ฟ้าและดิน ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และ ดวงดาว ที่สุดแม้แต่ความหนาว ลม ฝน ทุกประการ ล้วนแต่มหาพรหมบันดาลให้มีขึ้น และ มหาพรหมที่รู้แจ้งเจนจบทุกสิ่งในโลกด้วย ไม่มีสิ่งใดจะซ่อนเร้นลี้ลับถึงกับมหาพรหมจับไม่ได้

          เมื่อพระพุทธเจ้าใคร่จะทรมาน พกาพรหม ให้สำนึกได้ว่าตนเองยังเป็นสัตว์ที่เวียนว่ายในสงสาร ยังมีน้ำใจเป็นพาลด้วยคิดผิดอยู่ เพียงแต่มีอหังการฮึกเหิมว่าตนรู้แจ้งจบสรรพวิชา จึงมีพุทธฎีกาตรัสว่า
          ดูกร พกาพรหม ท่านยังยืนยันว่าท่านเป็นอุดมสยัมภูญาณ ยิ่งกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหมดอยู่ดอกหรือ ถ้ากระนั้น ท่านจงสำแดงฤทธิ์ให้ปรากฏโดยอันตรธานกายหายไปจากที่นี่ ไปซุกซ่อนอยู่ในที่อื่น ตถาคตจึงจะยอมให้ท่านเป็นอุดมสยัมภูญาณเป็นใหญ่ในบัดนี้

          พกาพรหม ก็ได้สำแดงอานุภาพกำบังกายหายจากที่นั่น แต่ก็ไม่พ้นพระพุทธญาณหยั่งรู้ได้ ไม่ว่าจะไปซุกซ่อนที่ใด พระพุทธองค์ก็ทรงทราบและตรัสบอกได้ ในที่สุด แม้ พกาพรหม จะเนรมิตกายให้ละเอียดไปซ่อนเร้นอยู่ในเม็ดทรายในท้องทะเล แต่พระพุทธองค์ก็ทรงรู้ได้ โดยตรัสบอกว่า ขณะนี้ไม่ว่า ท่านพกาพรหม จะไปซ่อนอยู่ในเม็ดทรายใดๆ ก็ไม่สามารถบดบังกำลังพุทธปัญญาญาณได้
          พกาพรหม เกิดโทมนัสขัดใจที่หลบลี้หนีไม่พ้น จึงกลับคืนไปซ่อนอยู่ในวิมานของตน เป็นที่อดสูอย่างล้นพ้นแก่บรรดาพรหมทั้งหลาย แต่แล้วก็ระงับความอับอายออกมาเฝ้าพระพุทธองค์แล้วทูลว่า

          ข้าแต่พระสมณะผู้เจริญ ถ้าพระองค์จะสามารถอันตรธานกายหายไปจนข้าพระองค์มองเห็นไม่ได้ นั่นแหละข้าพระองค์จึงจะสรรเสริญ นับถือว่าพระองค์ คือ สัพพัญญู ผู้ควรเคารพบูชา

          พระพุทธองค์จึงทรงทำปาฏิหาริย์ อันตรธานพระกายหายไป ในที่เฉพาะหน้าแห่งบรรดามหาพรหม เสด็จประทับอยู่ท่ามกลางประชุมพรหมสันนิบาตแต่ไม่มีพรหมองค์ใดจักสามารถเห็นพระองค์ได้ ทั้งทรงแสดงพระธรรมเทศนา บรรดามหาพรหมทั่วหน้า ก็ได้ฟังแต่พระสุรเสียงอันไพเราะเสนาะโสตแต่มิได้เห็นพระพุทธองค์ จึงพากันตกตะลึงลานด้วยความประหลาดใจสงสัยและเลื่อมใสในพระพุทธปาฏิหาริย์ของพระพุทธองค์กันทั้งสิ้น

          ฝ่ายพกาพรหม ก็พยายามใช้กำลังทิพพจักขุและทิพพปัญญาสอดส่องค้นหา แต่ก็หาไม่พบพระพุทธเจ้า จึงจนใจจนปัญญาหมดกำลังที่จะค้นหาพระองค์แล้ว  ขณะนั้น สมเด็จพระจอมไตรจึงตรัสเรียกว่า

          ดูกร พกาพรหม เราตถาคตกำลังเดินจงกรมอยู่บนเศียรเกล้าของท่านอยู่ในขณะนี้

          พระองค์ตรัสแล้วก็สำแดงพระกายให้ปรากฏแก่มหาพรหมทั้งหลาย ด้วยพระอิริยาบถเสด็จจงกรมอยู่บนเศียรเกล้าของ พกาพรหม พรหมทั้งหลายต่างก็ยกกรประนมนมัสการ ชื่นชมอิทธิปาฏิหาริย์ที่สูงกว่าเทพยดาพรหม และมารทั้งหมด ทำให้ พกาพรหม อัปยศหมดมานะยอมจำนน
          ครั้นแล้ว พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสเทศนาโปรด พกาพรหม และ มหาพรหมทั้งมวลที่มาประชุมสันนิบาตอยู่ ในอวสานแห่งพระธรรมเทศนา พกาพรหม ก็ได้บรรลุพระโสดาปัตติผล แล้วน้อมศิโรราบกราบพระบาทยุคลโดยคารวะเป็นอันดี มอบตนเป็นสาวกของพระพุทธองค์ พรหมทั้งหมดก็พากันแซ่ซ้องสาธุการ
          พระพุทธจริยาตอนเสด็จจงกรมอยู่บนเศียรเกล้าของ พกาพรหม นี้นั่นเองเป็นสาเหตุให้สร้างพระพุทธรูป ที่เรียกว่า ปางโปรดพกาพรหม

ปีเถาะ      
พระปางอธิษฐานเพศเป็นบรรพชิต
หรือปางมหาภิเนษกรมณ์


ลักษณะพระพุทธรูป

          พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวายกขึ้น ตั้งฝ่าพระหัตถ์ตรงพระอุระ เบนฝ่าพระหัตถ์ไปข้างซ้าย เป็นกิริยาสำรวมจิตอธิษฐานเพศบรรพชิต พระพุทธรูปปางนี้ ไม่มีพระรัศมีบนพระเศียร ด้วยนิยมว่า พระรัศมีจะมีก็ต่อเมื่อได้ตรัสรู้แล้ว ปางมหาภิเนษกรมณ์ก็เรียก

ประวัติความเป็นมา

          เมื่อ พระเจ้าสุทโธทนะ ทรงทราบเกี่ยวกับการประสูติของพระราชกุมารก็ทรงโสมนัสเป็นอันมาก จึงได้เสด็จมาอัญเชิญพระราชกุมารพร้อมด้วยพระชนนี แวดล้อมด้วยราชบริวาร กึกก้องด้วยดุริยางค์ประโคมแห่เสด็จเข้าพระนครกบิลพัสดุ์ โปรดให้จัดพี่เลี้ยงนางนม พร้อมด้วยเครื่องสูงแบบกษัตริย์บำรุงพระกุมารกับจัดแพทย์หลวงถวายการบริหารพระราชเทวีเป็นอย่างดี

          พระราชกุมารครั้นเจริญวัยแล้ว ก็ได้รับการศึกษาศิลปวิทยาเป็นอย่างดีและครั้นเจริญด้วยพระชนมพรรษา สมควรมีพระราชเทวีได้แล้ว พระราชบิดาก็โปรดให้สร้างปราสาท ๓ หลังงดงาม เพื่อเป็นที่ประทับประจำ ๓ ฤดูสำหรับพระราชโอรสพระเจ้าสุทโธทนะ ตรัสขอ พระนางยโสธรา หรือ พระนางพิมพา มาอภิเษกให้เป็นพระชายาพระสิทธัตถกุมาร แล้วเสด็จอยู่ยังปราสาททั้ง ๓ หลังนั้นตามฤดูทั้ง ๓ บำเรอด้วยดนตรีล้วนแต่สตรีประโคมขับ ไม่มีบุรุษเจือปน เสวยสมบัติทั้งกลางวันกลางคืนจนพระชนม์ได้ ๒๙ พรรษา จึงได้มีพระราชโอรสประสูติแต่พระนางพิมพา พระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า ราหุลกุมาร

          วันหนึ่ง พระสิทธัตถะ เสด็จประพาสพระราชอุทยานโดยรถพระที่นั่งได้ทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง ๔ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ อันเทวดา แสร้งนิมิตไว้ในระหว่างทาง ทำให้ทรงเกิดความเบื่อหน่ายในกามคุณ สังเวชพระทัยเกิดจากเหตุที่ได้เห็นเทวทูต ๓ ขั้นต้น อันพระองค์ยังไม่เคยพบมาในกาลก่อน แต่ยังความพอพระหฤทัยในบรรพชาให้เกิดขึ้น เพราะได้เห็นสมณะ

           ครั้นเสด็จแล้วถึงที่ประทับแล้ว สิทธัตถกุมาร ก็ทรงพิจารณาสิ่งที่ได้พบเห็นมานั้น ทรงหยั่งเห็นความแก่ ความเจ็บ ความตาย กำลังครอบงำมหาชนอยู่ทุกคน ไม่ล่วงพ้นไปได้ แม้ตัวเราเองก็จะต้องเป็นอย่างนั้นเข้าสักวันหนึ่งจนได้ ทั้งนี้ก็เพราะโทษที่ไม่ได้ฟังคำสอนของนักปราชญ์ เมื่อเห็นผู้อื่นแก่ เจ็บ ตาย ย่อมเบื่อหน่ายเกลียดชัง ไม่คิดถึงตัวว่าจะต้องเป็นเหมือนอย่างนั้นบ้างเลย เมื่ออยู่ในวัยในความไม่มีโรคและในชีวิต เหมือนหนึ่งว่าจะไม่ต้องแก่ เจ็บ ตาย ขวนขวาย หาแต่ของอันมีสภาวะเช่นนั้น ไม่คิดหาอุบายเครื่องพ้นบ้างเลย ถึงพระองค์ก็ต้องมีอย่างนั้นเป็นธรรมดา แต่การจะเกลียดเบื่อหน่ายเหมือนอย่างคนอื่นนั้นเป็นการไม่ควรแก่พระองค์เลย  เมื่อทรงดำริอย่างนี้แล้ว ก็ทรงบรรเทาความเมา ๓ ประการ กับทั้งความเพลิดเพลินในกามสมบัติเสียได้

พระสิทธัตถะจึงทรงดำริต่อไปว่า ธรรมดาสภาวะทั้งปวงย่อมมีของเป็นข้าศึกแก่กัน คือ เมื่อมีร้อนก็มีเย็นแก้ มีมืดก็มีสว่างแก้ บางทีจะมีอุบายแก้ทุกข์ คือ แก่ เจ็บ ตาย ๓ อย่างนั้น เป็นการยากมากสำหรับผู้ที่ยังอยู่ครองเรือนในฆราวาสวิสัยแล้วจะแสวงหาไม่ได้เลย เพราะชีวิตฆราวาสนี้เป็นที่คับแคบนัก ทั้งเป็นที่ตั้งแห่งอารมณ์อันทำใจให้เศร้าหมอง เหตุด้วยความรัก ความชัง ความหลงเป็นดุจทางมาแห่งธุลี ส่วนบรรพชาเป็นช่องว่าง พอเป็นที่แสวงหาอุบายนั้นได้ ครั้นทรงดำริอย่างนี้แล้ว ก็มีพระทัยน้อมไปในบรรพชา ไม่ยินดีในฆราวาสสมบัติ เมื่อทรงแน่พระทัยว่า บรรพชาเป็นอุบายให้แสวงหาธรรมเป็นเครื่องพ้นทุกข์ได้เช่นนั้น ก็ทรงโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง

ครั้นพระสิทธัตถกุมารทรงน้อมพระทัยเสด็จออกบรรพชาเช่นนั้น ก็ทรงเห็นว่าทางที่จะให้พระองค์ออกบรรพชาได้นั้นมีอยู่ทางเดียว คือ เสด็จออกจากพระนคร ตัดความอาลัย ความเยื่อใยในราชสมบัติ พระชายาและพระราชโอรสกับทั้งพระประยูรญาติ ตลอดจนราชบริวารทั้งสิ้นเสีย

แต่ถ้าพระองค์จะทูลลาพระราชบิดาก็คงจะถูกทัดทาน ยิ่งมวลพระประยูรญาติด้วยแล้ว ถ้าทราบเรื่องก็จะรุมกันห้ามปราม การเสด็จออกซึ่งหน้า จะไม่เป็นผลสำเร็จได้ เมื่อทรงตั้งพระทัยเสด็จหนีเช่นนั้นแล้วในราตรีนั้นเอง พระองค์ก็เสด็จบรรทมแต่หัวค่ำ   ไม่ทรงไยดีในการขับประโคมด้วยดุริยางค์ดนตรีของพวกราชกัญญาทั้งหลาย ที่ประจงจัดถวายบำรุงบำเรอทุกประการ  เมื่อพระสิทธัตถะ ทรงตื่นบรรทมในเวลาดึกสงัด ได้ทอดพระเนตรเห็นนางบำเรอเหล่านั้น นอนหลับเกลื่อนอยู่ภายในปราสาทซึ่งสว่างด้วยแสงประทีป โคมไฟ บางนางอ้าปาก กัดฟัน น้ำลายไหล บางนางผ้าหลุด บางนางกอดพิณ บางนางก่ายเปิงมาง บางนางบ่นละเมอนอนกลิ้งกลับไปมา ปรากฏแก่พระสิทธัตถะ ประดุจซากศพอันทิ้งอยู่ในป่าช้า ปราสาทอันงามวิจิตรแต่ไหนแต่ไรมา ได้กลายเป็นป่าช้าปรากฏแก่พระสิทธัตถะในขณะนั้น เป็นการเพิ่มกำลังความดำริในการออกบรรพชาในเวลานั้นขึ้นอีก
 นามบุตรของตนว่า อหิงสกกุมาร อันมีความหมายว่า เป็นผู้ไม่เบียดเบียน
พระองค์ทรงเห็นการบรรพชาเป็นทางออกที่ห่างจากอารมณ์อันล่อให้หลงและมัวเมา เป็นช่องทางที่จะบำเพ็ญปฏิบัติให้เป็นประโยชน์แก่ตนและผู้อื่น ทำชีวิตให้มีผลไม่เป็นหมัน ครั้นทรงตกลงพระทัยเช่นนั้นแล้ว ก็เตรียมแต่งพระองค์ทรงพระขรรค์ รับสั่งเรียก นายฉันนะอำมาตย์ให้เตรียมผูกม้ากัณฐกะเพื่อเสด็จออกในราตรีนั้น

เมื่อพระองค์ตรัสสั่งแล้ว ก็เสด็จไปยังปราสาทนางพิมพาเทวี เพื่อทอดพระเนตรราหุลกุมาร พระราชโอรสองค์เดียวของพระองค์ ทรงเห็นพระนางบรรทมหลับสนิท พระกรกอดพระโอรสอยู่ ทรงดำริจะอุ้มพระโอรสขึ้นชมเชยเป็นครั้งสุดท้าย แต่ก็เกรงพระนางจะตื่นบรรทม เป็นอุปสรรคขัดขวางการเสด็จออกบรรพชา จึงตัดพระทัยระงับความเสน่หาพระโอรส เสด็จออกจากห้อง ลงจากปราสาท พบ นายฉันนะ เตรียมม้าพระที่นั่งไว้พร้อมแล้ว ก็เสด็จขึ้นม้ากัณฐกะ มีนายฉันนะ ตามเสด็จหนึ่งคน ออกจากพระนครในราตรีกาลนั้นซึ่งเทพยดาก็บันดาลเปิดทวารพระนครไว้ให้เสด็จโดยสวัสดี

เมื่อเสด็จพ้นจากพระนครไปแล้ว พญาวสวัตดีมาร ก็มาขัดขวางทางเสด็จ ทูลว่า อีก ๗ วัน สมบัติพระเจ้าจักรพรรดิก็มาถึงพระองค์แล้ว อย่าเพิ่งรีบเสด็จออกบรรพชาเลย พระองค์ตรัสว่า
แม้เราก็ทราบแล้ว แต่สมบัติจักรพรรดิไม่สามารถทำให้ผู้เสวยพ้นทุกข์ได้ ท่านจงหลีกไปเถิด
เมื่อทรงขับพญามารไปแล้ว ก็ทรงขับม้ากัณฐกราชพาหนะบ่ายหน้าสู่มรรคา เพื่อข้ามให้พ้นเขตราชเสมาแห่งกรุงกบิลพัสดุ์  เมื่อถึงเวลาใกล้รุ่งปัจจุสมัย ก็บรรลุถึงฝั่งแม่น้ำอโนมานที ทรงขับม้ากัณฐกะกระโจนข้ามแม่น้ำไปโดยสวัสดี  เมื่อทรงพ้นเขตกรุงกบิลพัสดุ์แล้ว ก็เสด็จลงจากหลังอัศวราช ประทับเหนือหาดทรายขาวสะอาด รับสั่งแก่นายฉันนะว่า
เราจักบรรพชาถือเพศเป็นบรรพชิตในที่นี้ ท่านจงเอาเครื่องประดับกับม้าสินธพกลับพระนครเถิด
ครั้นตรัสแล้ว ก็ทรงเปลื้องเครื่องประดับสำหรับขัตติยราชออกทั้งหมดมอบให้แก่นายฉันนะ ตั้งพระทัยปรารถนาจะทรงบรรพชาเปล่งพระวาจา สาธุ โข ปพฺพชฺชา
แล้วจึงทรงจับพระเมาลีด้วยพระหัตถ์ซ้าย  พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ตัดพระเมาลี ให้ขาดออกเรียบร้อยด้วยพระองค์เอง แล้วจับพระเมาลีโยนขึ้นไปบนอากาศ
ทันใดนั้น สมเด็จอมรินทราธิราช ก็ทรงเอาผอบทองมารองรับพระเมาลีเอาไว้ แล้วนำไปบรรจุยัง พระจุฬามณีเจดียสถาน ในเทวโลก
ขณะนั้น ฆฏิการพรหม ก็นำเอาผ้ากาสาวพัสตร์และบาตรจากพรหมโลกน้อมเข้าไปถวาย พระสิทธัตถะทรงรับไว้แล้วทรงตั้งพระหฤทัยอธิษฐานเพศเป็นบรรพชิต อันเป็นอุดมเพศ แล้วทรงประทานผ้าทรงทั้งคู่ทีเปลื้องออกมอบให้แก่ฆฏิการพรหม ฆฏิการพรหมก็น้อมรับเอาผ้าคู่นั้นไปบรรจุไว้ใน ทุสสเจดีย์ ในพรหมโลกสถาน
พระพุทธจริยาตอนเสด็จอธิษฐานเพศบรรพชิตนี้ จึงได้มีการสร้างเป็นพระพุทธรูป ปางอธิษฐานเพศบรรพชิต หรือ มหาภิเนษกรมณ์


ปีมะโรง
พระปางโปรดองคุลีมาล

ลักษณะพระพุทธรูป

พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในปางพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ซ้ายห้อยลง พระหัตถ์ขวายกขึ้นตั้งเสมอพระอุระ ตั้งนิ้วพระหัตถ์ตรง หันฝ่าพระหัตถ์ไปทางซ้ายระหว่างพระอุระ

ประวัติความเป็นมา
ในครั้งนั้น ยังมีพราหมณ์ปุโรหิตผู้หนึ่ง นามว่า ภควพราหมณ์ ผู้มีภรรยามีนามเรียกโดยทั่วไปว่า มันตานีพราหมณี ภควพราหมณ์ เป็นผู้รอบรู้ไตรเพท และวิชาแห่งการทำนายนักษัตร คือ สามารถทำนายชะตาชีวิตจากดวงดาวบนท้องฟ้าได้

ในวันที่นางมันตานีพราหมณีได้ให้กำเนิดบุตรชายหัวปี ได้เกิดลางร้ายขึ้นภายในพระนครสาวัตถี ด้วยบรรดาศัสตราวุธปรากฏแสงประกายรุ่งเรืองราวแสงสะท้อนจากกองไฟ ภควพราหมณ์เห็นภาพเหตุอาเพศก็รู้สึกแปลกใจ แหงนมองดาวบนท้องฟ้า ครั้นทราบว่า บุตรของตนเกิดใต้ฤกษ์ดาวโจร ภายภาคหน้าจะสร้างความเดือดร้อนแก่ปวงชน ด้วยเห็นแก่ประเทศชาติบ้านเมืองเหนือสิ่งอื่นใด ภควพราหมณ์จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลต่อ พระเจ้าปเสนทิโกศล เพื่อให้นำบุตรของตนไปพิฆาตเสียตั้งแต่ยังเยาว์วัย  พระเจ้าปเสนทิโกศลไม่ทรงเห็นด้วย ดำริว่า เด็กทารกเป็นผู้บริสุทธิ์ ถ้าได้รับการอบรมเลี้ยงดูส่งเสริมให้มีวิชาความรู้ ได้ศึกษาในสำนักของครูผู้มีคุณธรรม ย่อมสามารถอบรมบ่มนิสัยให้ร้ายกลับกลายเป็นดีได้  เหมือนดังผู้เป็นบิดาซึ่งมีความจงรักภักดีเห็นแก่ประโยชน์ชาติบ้านเมือง  ภควพราหมณ์ก้มหมอบลงกราบแทบเบื้องพระบาทรับพระมหากรุณาด้วยน้ำตานองหน้า เมื่อกลับมายังบ้านของตนจึงปรึกษากับ นางพราหมณี ให้

ครั้นเมื่อ อหิงสกะ เจริญวัย ภควพราหมณ์ได้ส่งไปเรียนสรรพวิชา ณ สำนัก ทิศาปาโมกข์ เมืองตักกสิลา ด้วยความเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขแห่งปราชญ์ อหิงสกะมีความตั้งใจศึกษาและเล่าเรียนวิชาได้แตกฉานเหนือเพื่อนศิษย์ทั้งหลาย ทั้งยังเป็นผู้มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ทำให้เป็นผู้ได้รับความรักใคร่จากอาจารย์ แต่กลับเป็นที่อิจฉาริษยาของเพื่อนศิษย์ด้วยกัน จึงต่างพยายามยุยงด้วยอุบายจนผู้เป็นอาจารย์เกิดความเขลา ด้วยโมหะ เข้าใจว่า อหิงสกะคิดลบหลู่หมายล้มล้างตน ครั้นจะฆ่าด้วยตนเองก็เกรงตกเป็นที่ครหานินทา ดังนั้น จึงมีวิธีเดียวที่จะกำจัด อหิงสกะ คือ ยืมมือผู้อื่นฆ่า โดยบอกว่าจะสอนพระเวทวิชาเอกเรียกว่า วิษณุมนต์  ให้แก่ศิษย์ที่มีความสามารถเหนือผู้อื่น เช่น อหิงสกะ โดยมีข้อแม้ว่า จะต้องหานิ้วมือมนุษย์จำนวนหนึ่งพันนิ้วจากหนึ่งพันคนมาจัดเป็น เครื่องกำนัล บูชาครูและเทพเจ้าผู้ประสิทธิ์วิชานี้

อหิงสกะ แม้รู้สึกประหลาดใจในวิชาและข้อกำหนดที่อาจารย์จะถ่ายทอดให้แต่ด้วยความเคารพจึงมิได้คิดโต้แย้ง น่าจะสันนิษฐานได้ว่า ผู้ที่ถูก อหิงสกะสังหารส่วนใหญ่คงจะเป็นเหล่าเพื่อนศิษย์ที่ริษยา เพราะเมื่อแผนการของตนสมคะเน ก็พากันไปลอบทำร้ายหมายประหารหรือจ้างพวกนักเลงพวกโจรไปรุมฆ่าฟัน อหิงสกะจึงต่อสู้เพื่อป้องกันตัวและนำนิ้วมือของฝ่ายศัตรูมาเก็บรักษาไว้ ในภายหลังจึงร้อยเป็นพวงมาลัย เพื่อนำติดตัวไปได้สะดวก เลยได้นามใหม่ว่า จอมโจรองคุลีมาล หรือ จอมโจรผู้มีนิ้วมือเป็นมาลัย

นับแต่นั้นมา  พระเจ้าปเสนทิโกศล ได้รับการร้องเรียนจากมหาชนว่า บัดนี้เกิดโจรร้ายสร้างความเดือดร้อนทำให้เกิดความวิตกหวาดกลัว แม้เหล่าราชบุรุษก็มิอาจต่อกร ไม่มีใครทราบว่า องคุลีมาลโจรเป็นใครมาจากไหน
นอกจาก ภควพราหมณ์เท่านั้นที่แน่ใจว่า คงเป็นบุตรชายของตนที่เกิดอยู่ภายใต้ฤกษ์ดาวโจร เพราะหลังจากที่ทราบข่าวลือว่า อหิงสกะ ถูกขับออกจากราชสำนักตักกสิลาด้วยประพฤติมิชอบแล้ว ก็ไม่มีวี่แววข่าวคราวอีกเลย จนเกิดเป็นเรื่องราวของมหาโจรผู้นี้ขึ้นมา
ครั้น นางมันตานีพราหมณีทราบข่าวว่า พระเจ้าปเสนทิโกศล เตรียมกองทัพเพื่อปราบปราม องคุลีมาลโจร จึงรีบออกติดตามหาบุตรชายด้วยความห่วงใยเกรงว่าจะต้องราชภัย ซึ่งในเวลานั้น อหิงสกะผู้หลงผิดรวบรวมนิ้วมือมนุษย์ที่ถูกตนประหารเอาไว้ได้แล้ว ๙๙๙ นิ้วมือนั้น ขาดเพียงนิ้วมือเดียวเท่านั้นก็จะครบหนึ่งพันตามคำสั่งของผู้เป็นอาจารย์
ในครั้งนั้น พระพุทธองค์ทรงประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ในพระนครสาวัตถี แคว้นโกศล อันมีพระเจ้าปเสนทิโกศล เป็นกษัตริย์ผู้ปกครองและพระพุทธองค์ทรงทราบด้วยอนาคตังสญาณว่า
นางมันตานี จะมีอันตราย องคุลีมาล ลูกชายไม่รู้จักก็จะประหาร เกิดเป็นอนันตริยกรรมล้างผลาญมรรคผลในภายหน้า จำตถาคตจะกรุณาไปช่วยให้พ้นภัยกับบำบัดความโหดร้ายของ องคุลีมาล ให้เลิกสันดานการเป็นโจรมาเป็นบรรพชิตในพระศาสนา
เมื่อพระพุทธองค์ทรงดำริแล้วก็เสด็จพุทธดำเนินไปในไพรสณฑ์ ล่วงหน้ามารดาองคุลีมาล ไปในวันนั้น
ขณะนั้น องคุลีมาล กำลังหมกมุ่นด้วยโมหจริต คิดแต่เพียงว่าเราก็คือ อหิงสกกุมาร ลอบออกมาล้างผลาญมนุษย์เพื่อเอานิ้วมือมนุษย์ให้ครบพัน บัดนี้ได้ ๙๙๙ นิ้วแล้ว ยังขาดอยู่อีกเพียงหนึ่งเท่านั้น
องคุลีมาล ไม่ได้รู้สึกผิดแม้สักนิดว่า ขณะนี้โลกกำลังตราหน้าตนเป็นองคุลีมาลโจรใจร้าย ควรตายมากกว่าอยู่เป็นคนทันใดนั้น พลันก็ได้แลเห็นองค์พระพุทธเจ้าแต่ไกลก็ดีใจว่า 

เออ โชคอันดีของเรา ไม่ต้องไปหานิ้วมือที่ไหนให้ไกล ถ้าได้นิ้วมือบรรพชิตผู้นี้ ก็จะได้ฤกษ์สหัสสมัยดรรชนี ได้องคุลีบรรจบครบพัน
เมื่ออหิงสกะ เห็นพระสมณะอยู่ตามลำพังผู้เดียว ก็บังเกิดความยินดี คว้าดาบลุกถลันวิ่งแล่นไล่ตาม แต่แม้จะพยายามวิ่งเท่าใด ก็ไม่สามารถทันพระพุทธองค์ ด้วยทรงทำปาฏิหาริย์ให้เข้าไม่ถึง แม้จะวิ่งตะบึงขับไล่จนสุดแรงก็ไร้ผล
พระพุทธองค์ก็เสด็จดำเนินไปตามปกติ องคุลีมาล จึงดำริว่า เราสิ้นกำลัง จึงหยุดยืนร้องตะโกนด้วยเสียงอันดังว่า
หยุดก่อนสมณะ สมณะหยุดก่อน
พระพุทธองค์ไม่ทรงหยุด ทรงดำเนินไปตามปกติ แต่ทรงรับสั่งว่า
องคุลีมาล เราหยุดแล้ว แต่ท่านนั่นแหละไม่หยุด
องคุลีมาลได้ฟังขัดใจ แม้จะพูดให้หยุดเท่าใด ก็ได้รับแต่คำตอบเท่านั้น พลันก็พูดตำหนิว่า
ดูกร สมณะ ท่านสิเป็นบรรพชิตชอบที่จะมีคำสัตย์ให้สมกับเพศ ยังเดินอยู่แต่พูดว่าหยุดแล้วได้ ส่วนเราสิหยุดแล้ว แต่ว่าท่านกลับกล่าวว่าเราไม่หยุด เหตุไฉนไยท่านจึงพูดไม่เป็นความจริงเล่า?”
พระพุทธองค์จึงทรงหยุดประทับยืนแล้วรับสั่งว่า
อหิงสกะ ตถาคตกล่าวแต่คำจริงเป็นปกติ ที่ตถาคตกล่าวว่า เราหยุดแล้ว คือ หยุดฆ่า หยุดเบียดเบียน หยุดแสวงหาในทางผิด หยุดดำเนินไปในทางทุจริตสิ้นทุกประการ อหิงสกะ เธอสิมีสันดานพาล แรงร้ายไม่หยุดยั้ง วิ่งตามเราจนสิ้นกำลังแล้ว ยังไม่คิดหยุด มือถืออาวุธเขม้นหมายประหาร แต่ปากซิขานว่าหยุดแล้ว น่าขวยแก่ใจ เท็จต่อตัวเองแล้วไฉนมาเท็จต่อเราอีกเล่า อหิงสกะ
เมื่อ องคุลีมาล ได้ฟังพระดำรัสพระพุทธองค์ตรัสเพียงเท่านั้น ก็พลันสำนึกรู้สึกผิด ได้คิดละอายแก่ใจในบาปกรรมของเขาทุกประการ แม้แต่ชื่อ อหิงสกะ ก็ทรงขานเรียกได้ ทรงมีกายใจบริสุทธิ์ น่าเข้าไปหา คิดแล้วก็ซ่อนเอาอาวุธไว้ในป่า เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้ายังที่ประทับเพื่อสดับพระโอวาท ถวายบังคมพระบรมยุคลบาทแล้วประคองอัญชลี

ต่อจากนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงแสดงธรรมฟอกจิต องคุลีมาลโจร ให้สะอาดดี เปิดฝ้ากิเลสที่ปิดบังสาวกญาณบารมีให้ปรากฏ จนองคุลีมาล เลื่อมใสในการบำเพ็ญพรตแบบบรรพชิต และทูลขอบรรพชา พระพุทธเจ้าจึงประทานเอหิภิกขุอุปสมบทให้ แล้วทรงพาพระองคุลีมาลไปยังพระเชตวันมหาวิหาร ประหนึ่งว่า เสด็จไปคล้องช้างสารที่ซับมัน บัดเดี๋ยวใจก็ได้ช้าง พลายเชือกใหม่มาสู่พระอาวาส ไม่ต้องใช้บ่วงบาศเครื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ เพียงแต่ใช้พระโอวาทตรัสสอนให้สงบระงับก็จับได้ ทั้งไม่ให้เป็นเวรเป็นภัยในทุกสถาน นับว่าพระองค์ทรงพิชิตโจร องคุลีมาล ด้วยธรรมวิเศษ เป็นชัยมงคลอุดมเดชของพระพุทธองค์ที่ทรงทรมานองคุลีมาลโจรให้กลับใจหมดพยศ บวชเป็นพระภิกษุบำเพ็ญพรตสมดังมโนรถทุกประการ

พระพุทธจริยาตอนประทับยืนตรัสกับองคุลีมาล นั้น  เป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูป ที่เรียกว่า ปางโปรดองคุลีมาลโจร ขึ้น


   ปีมะเส็ง    
พระปางรับอุทกัง


ลักษณะพระพุทธรูป


                พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาทรงบาตรวางบนพระชานุ เป็นอาการยื่นบาตรออกรับ อุทกัง คือ เป็นกิริยารับน้ำ

ประวัติความเป็นมา

          พระพุทธองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์พุทธบริวารเป็นอันมาก เสด็จพุทธดำเนินถึงบ้านภัณฑุคาม แล้วเสด็จประทับอยู่ ณ บ้านภัณฑุคามนั้น ตรัสเทศนาว่า
          ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ศีล สมาธิ ปัญญา และ วิมุตติ เป็นอริยธรรม ๔ ประการ เพราะอาศัยความไม่ตามตรัสรู้ ไม่แทงตลอดซึ่งธรรม ๔ ประการ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา และ วิมุตติ ที่เป็นอริยธรรมนี้แลเป็นเหตุ เราตถาคตและเธอทั้งหลายเหล่าสาวก จึงได้ท่องเที่ยวด้วยภพกำเนิดคติ สิ้นกาลนานนักอย่างนี้ โมหะ ความหลง ความมืด เป็นเครื่องปกปิดไม่ให้เกิดปัญญาตรัสรู้ธรรมทั้ง ๔ นี้ เป็นเหตุนำให้เสวยสังสารทุกข์อันวิจิตรเป็นอเนกประการแล
          ต่อจากนั้น พระพุทธองค์พร้อมกับพระภิกษุสงฆ์ได้เสด็จไปยังหัตถีคาม อัมพุคาม ชัมพุคาม และโภคนคร โดยลำดับ และประทับอยู่ ณ โภคนคร ทรงแสดงธรรมโปรดพุทธบริษัทชาวเมืองนั้น ต่อจากนั้นจึงได้เสด็จไปยังเมืองปาวานคร เสด็จเข้าประทับอาศัยอยู่ที่อัมพวันสวนมะม่วงของ นายจุนทะกัมมารบุตรซึ่งอยู่ใกล้เมืองนั้น

ปัจฉิมบิณฑบาต
          พระพุทธองค์ตรัสแก่ นายจุนทะ ว่า สุกรมัททวะจงอังคาส (ถวาย) เฉพาะพระองค์เพียงผู้เดียว ที่เหลือให้ขุดหลุมฝังเสีย เพราะนอกจาก
พระองค์แล้วไม่มีผู้ใดสามารถย่อยได้ จงนำอาหารอื่นๆ ที่จัดเตรียมไว้ถวายเหล่าภิกษุสงฆ์ นายจุนทะ ก็ได้กระทำตามพุทธประสงค์ทุกประการ
          สุกรมัททวะ แปลตามศัพท์ว่า เนื้อหมูอ่อน แต่บูรพาจารย์ได้ให้ข้อคิดว่า น่าจะเป็นอาหารหรือยาที่ปรุงขึ้นมาเป็นพิเศษ เหมาะสำหรับพระโรคของพระพุทธองค์เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ จึงตรัสให้นำที่เหลือไปฝังเสีย เมื่อเสร็จภัตกิจที่บ้านนายจุนทะผู้ถวายปัจฉิมบิณฑบาต คือ อาหารมื้อสุดท้าย คู่กับ นางสุชาดา ซึ่งเป็นผู้ถวายปฐมบิณฑบาต คือ อาหารมื้อแรก
          ครั้น นายจุนทะได้ทราบข่าว จึงได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์และได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า และ เกิดความเลื่อมใสจึงได้กราบทูลนิมนต์พระพุทธองค์พร้อมกับภิกษุสงฆ์ ให้เข้าไปรับบิณฑบาตยังนิเวศน์ของตน พระพุทธองค์ทรงรับด้วยดุษณียภาพ (คือ การนั่งนิ่ง หมายถึง การรับนิมนต์อันเป็นธรรมเนียมของสมณะ)
          เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของ นายจุนทะในวันนั้น หลังจากที่นายจุนทะได้จัดโภชนาหารอันประณีตไว้ถวายพร้อมกับสุกรมัททวะ เสวยภัตตาหารของนายจุนทะในวันนั้นแล้ว ก็ทรงพระประชวรพระโรคโลหิตปักขัณฑิกาพาธจึงได้ตรัสสั่ง พระอานนท์ ว่า
          อานนท์ มาเราจะไปยังเมืองกุสินารา
          พระอานนท์ รับพระบัญชาแล้ว จึงรีบแจ้งให้พระสงฆ์ทั้งหลายเตรียมตามเสด็จไว้พร้อม
          พระพุทธเจ้าทรงเยียวยาพระโรคาพาธด้วยโอสถคือ สมาบัติภาวนา เสด็จจากเมืองปาวาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ตามมรรคาโดยลำดับ
          ขณะที่เสด็จไปตามทางนั้น ทรงบังเกิดการกระหายน้ำเป็นกำลัง จึงเสด็จแวะเข้าพักยังร่มไม้ริมทางพลางตรัสเรียก พระอานนท์ว่า
          อานนท์ ตถาคตกระหายน้ำมาก เธอจงไปตักน้ำมาให้ตถาคตดื่มระงับความกระหายให้สงบเถิด
          เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวเท่านั้น ที่พระพุทธเจ้าทรงขอน้ำเสวย ในขณะเดินทางยังไม่ถึงที่พัก
          เนื่องด้วยพระองค์ทรงพระประชวรมาก ใกล้อวสานพระชนม์ ต้องเสวยทุกขเวทนา ซึ่งเกิดแก่สังขาร สมดังที่พระองค์ตรัสว่า
          สังขารเป็นมารทำลายความสุข ไม่เลือกว่าสังขารของผู้ใดทั้งสิ้น
พระอานนท์ได้กราบทูลว่า
          ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีเกวียน ๕๐๐ เล่มเพิ่งข้ามแม่น้ำนี้ไป และแม่น้ำนี้ก็เป็นแม่น้ำเล็ก น้ำในแม่น้ำก็น้อย เมื่อล้อเกวียนมากด้วยกันบดไปตลอดทุกเล่ม น้ำจึงขุ่น ไม่ควรจะเป็นน้ำเสวย ถัดนี้ไปไม่ไกลนัก แม่น้ำ กกุธานทีมีน้ำจืด ใส เย็น ทั้งมีท่าที่รื่นรมย์ ขอเชิญเสด็จไปยังแม่น้ำ  กกุธานที ที่โน้นเถิดจะได้เสวย หรือสรงก็จะเย็นเป็นความสุขสำราญ ระงับความกระหาย

          ไปเถอะ อานนท์ พระองค์ทรงรับสั่ง
          ไปนำน้ำในแม่น้ำนี้แหละ มาให้ตถาคตดื่มบรรเทา

          พระอานนท์ได้กราบทูลทัดทานถึง ๒ ครั้ง เมื่อได้รับพระกระแสรับสั่งครั้งที่ ๓ พระเถรเจ้าก็อนุวัตรตามพระบัญชาทันที ด้วยได้สติรู้ทันในพระบารมีของพระพุทธองค์ อันธรรมดาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย จะดำรงคงพระวาจามั่นในสิ่งที่หาสาเหตุมิได้นั้นเป็นไม่มี จึงรีบนำบาตรเดินตรงไปยังแม่น้ำนั้น

          เมื่อเข้าไปใกล้แม่น้ำนั้นก็ได้ปีติปราโมทย์ ด้วยอานุภาพของพระพุทธองค์ หากมาบันดาลน้ำในแม่น้ำ ซึ่งขุ่นข้นให้กลับกลายเป็นน้ำใสสะอาดปราศจากมลทิน พระเถรเจ้าจึงได้ไปตักน้ำด้วยความบันเทิงแล้วนำมาน้อมเข้าไปถวายพระพุทธเจ้า ให้เสวยตามพระพุทธประสงค์ แล้วกราบทูลถึงเหตุอัศจรรย์ที่ได้ประสบมา

          พระพุทธองค์จึงตรัสเล่าสาเหตุให้ พระอานนท์ ฟังว่า
ดูกร อานนท์ เหตุที่เกวียน ๕๐๐ เล่ม เดินบดน้ำให้ขุ่นข้นเป็นอุปสรรคให้เราตถาคตต้องทรงดื่มน้ำช้าไปนั้น เป็นเพราะบุพกรรมแต่ชาติปางก่อน กล่าวคือ เมื่อครั้งตถาคตเสวยชาติเป็นพ่อค้าเกวียน ๕๐๐ เล่ม ขณะนำเกวียนผ่านแม่น้ำ ได้จัดทำกะทอสวมปากวัวเสียมิให้ดื่มกินน้ำขุ่น ด้วยเกรงว่าจะกินน้ำไม่สะอาด เป็นภัยแก่วัวในเวลาเดินทางไกล ต่อเมื่อถึงแม่น้ำใหญ่ มีน้ำใสสะอาดแล้ว จึงแก้กะทอที่สวมปากวัวออก ปลดปล่อยให้วัวทั้งหลายได้ดื่ม น้ำใสสะอาดให้สุข สำราญ เศษวิบากของกรรมนี้ได้ติดตามมาสนองตถาคตแม้ใกล้จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ให้ต้องทรงลำบากยากแก่การดื่มน้ำช้าไปชั่วขณะหนึ่ง

          ส่วนอานุภาพที่บันดาลให้น้ำขุ่นข้นนั้นกลับกลายเป็นน้ำใสสะอาดบริสุทธิ์ในปัจจุบันนั้น เป็นเพราะบุญกุศลที่พระองค์ได้ทรงสร้างบ่อน้ำไว้ในที่กันดารน้ำ เมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นพ่อค้าเกวียน นำเกวียนมากเล่มด้วยกันเดินทางผ่านทางที่กันดารน้ำ ต้องเอาน้ำใส่เกวียนไปกิน เผอิญน้ำหมด ยังไม่ทันถึงหมู่บ้านที่พัก ทั้งคนและวัวต้องสิ้นกำลังไปไม่รอด จะต้องตายกลางทาง จึงได้พยายามเดินตรวจสถานที่ซึ่งพอจะขุดบ่อน้ำได้

          ครั้นเห็นที่ชายเนินแห่งหนึ่งมีกอหญ้าเขียวขจีงามมาก ก็แน่ใจว่าที่ตรงนั้นจะต้องมีน้ำ จึงไปเรียกคนเกวียนที่ร่วมใจมาช่วยกันขุด พยายามสกัด งัดแผ่นหินใหญ่ที่ปิดทางเดินของน้ำออก ในที่สุดก็สำเร็จ ได้น้ำใสสะอาดมีตาน้ำใหญ่ไหลออกมา จึงตามคนในกองเกวียนและนำวัวทั้งหลายมาดื่ม อาบเป็นที่สำราญ พร้อมกับตักใส่กระบอกได้ไปกินตามทางอีกด้วย

          ก่อนที่จะเดินทางก็ได้เขียนป้ายติดไว้ใกล้ทางเดิน ให้คนผ่านไปมาได้ทราบว่า สถานที่ถัดจากทางนี้ไปเล็กน้อย มีบ่อน้ำจืดใสสะอาดบริสุทธิ์ควรแก่การดื่มอาบ ด้วยอานุภาพของบุญกุศลอันนั้น ได้ตามสนองส่งผล
บันดาลให้น้ำขุ่นข้นพลันกลับใสสะอาดบริสุทธิ์ ให้พระพุทธองค์ได้เสวยระงับความกระหาย ได้ความสุขสบายสมพระประสงค์ทุกประการแล
          พระพุทธจริยาตอนรับน้ำจาก พระอานนท์ มาเพื่อเสวยนั้นเอง เป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูปที่ เรียกว่า ปางทรงรับอุทกัง


    ปีมะเมีย    
พระปางสนเข็ม

ลักษณะพระพุทธรูป

          พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้นเสมอพระอุระ พระหัตถ์ซ้ายทำกิริยาจับเข็ม พระหัตถ์ขวาทำกิริยาจับเส้นด้าย อยู่ในพระอาการสนเข็ม

ประวัติความเป็นมา

          เมื่อพระพุทธองค์เสด็จประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร ใกล้พระนครราชคฤห์ แคว้นมคธ 
ขณะนั้นจีวรของ พระอนุรุทธเถรเจ้า เก่าคร่ำคร่า ดังนั้น พระอนุรุทธเถรเจ้าจึงเที่ยวแสวงหาผ้าบังสุกุลตามกองหยากเยื่อที่บุคคลนำมาทิ้ง ด้วยเป็นเศษผ้าหรือเป็นผ้าปฏิกูลล้าง ตามสุสานที่บุคคลห่อศพมาทิ้งไว้ตามราวไพร หรือสุมทุมพุ่มไม้ที่บุคคลผู้มีศรัทธานำมาทิ้งไว้ถวาย ซึ่งนิยมเรียกว่า ผ้าป่า ในบัดนี้บ้าง เพื่อเอาไปผสมกันให้พอทำจีวรในสมัย จีวรกาล (เวลาทำจีวรตามพระพุทธบัญญัติที่เรียกว่าฤดูทอดกฐิน คือวันแรมค่ำ ๑ เดือน ๑๑ ถึงกลางเดือน ๑๒ รวมกำหนด ๑ เดือน) ตามนิสัยพระเถรเจ้า ผู้นิยมใช้ผ้าบังสุกุลจีวรเป็นปกติ

          บังเอิญว่าในขณะนั้น นางชาลินี เทพธิดาในดาวดึงส์พิภพ ซึ่งอดีตชาติที่ ๓ ได้เคยเป็นภรรยาที่ดีของ พระอนุรุทธเถระ เห็นพระเถระกำลังเที่ยวหาผ้าอยู่จึงเอาผ้าอย่างดี ๓ ผืน กว้าง ๔ ศอก ยาว ๑๓ ศอก มาเพื่อตั้งใจถวายพระเถรเจ้า แต่พลันคิดได้ว่าหากถวายตรงๆ ดังคิดไว้ พระเถระอาจไม่รับ เราจะจัดถวายแบบผ้าบังสุกุล ดังนี้แล้ว ก็กำหนดดูทางที่พระเถระจะเดินผ่านมาแล้วเอาผ้าทั้ง ๓ ผืนนั้นวางไว้ใกล้ทางเอาหยากเยื่อ ถมไว้ให้ปรากฏเหลือชายผ้าไว้หน่อยหนึ่งพอที่พระเถระเดินผ่านมาจะสังเกตเห็นได้ แล้วหลีกไป

          เมื่อ พระอนุรุทธเถระ เดินแสวงหาผ้าผ่านมาทางนั้น เห็นชายผ้าที่หยากเยื่อทับถมอยู่จึงได้ถือเอาโดยสำคัญว่าเป็นผ้าบังสุกุล และเมื่อเห็นว่าผ้ามีจำนวนมากพอทำจีวรได้แล้วก็เดินทางกลับพระเวฬุวันมหาวิหาร บอกให้เพื่อนสหธรรมิกทั้งหลายทราบว่า ท่านจะทำจีวร ขอให้พระสงฆ์มาร่วมกันช่วยจัดทำ

          เมื่อพระสงฆ์สาวกได้ทราบว่า พระอนุรุทธเถระทำจีวร ต่างก็มาพร้อมกันตลอดพระมหาสาวก เช่น พระมหากัสสปะ พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ และ พระอานนท์ ผู้ชำนาญในการกะตัดจีวรเป็นพิเศษ ก็ได้มาร่วมประชุมทำจีวรถวายพระอนุรุทธเถระ อย่างน่าสรรเสริญ ต่างรับแบ่งงานออกทำกันตามความสามารถทุกองค์ แม้พระพุทธองค์ก็ทรงพระเมตตาเสด็จมาประทับเป็นประธาน ทั้งรับธุระสนเข็มให้ พระที่ช่วยเย็บผ้ารูปใดด้ายหมดก็ส่งเข็มถวาย พระพุทธองค์ก็ทรงสนเข็มประทาน เป็นที่เบิกบานใจแก่มวลพระสงฆ์ที่เข้าร่วมทำจีวรร่วมกันทั้งสิ้น
          อนึ่ง ในการเลี้ยงดูพระสาวกที่มาร่วมทำจีวรครั้งนี้นั้น นอกจาก พระโมคคัลลานเถระ ในฐานะเป็นพระผู้ใหญ่ควบคุมกิจการทั่วไป ที่จะพึงสอดส่องดูแลให้ความสะดวกแก่พระสาวกทั้งหลายแล้ว ยังมี นางชาลินี เทพธิดาเจ้าของผ้าบังสุกุลก็ได้ติดตาม พระอนุรุทธเถระ มาถึงวิหาร
          ครั้นเห็นพระสงฆ์สาวกเป็นอันมาก มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข เสด็จมาประทับเป็นประธานในการทำจีวรถวายพระอนุรุทธเถระ ก็มีความยินดีมากจึงได้จำแลงกายเป็นอุบาสิกาเข้าไปป่าวร้องไปในหมู่บ้านว่า เวลานี้พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวก ได้ประกอบพิธีทำจีวรถวายพระอนุรุทธเถระ ควรที่เราทั้งหลายจะจัดข้าวยาคู และ ของควรเคี้ยวควรฉันไปถวายพระสงฆ์ ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน เพื่อเราทั้งหลายจะพึงเป็นผู้มีส่วนบุญในการนี้ด้วย
          ต่อมาไม่นาน ผู้มีใจบุญใจกุศลก็ได้นำเอาอาหารอันประณีตมาถวายพระสงฆ์สาวก อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขเป็นอันมาก ตามคำชักชวนของนางชาลินีเทพธิดา พระสงฆ์สาวกทั้งหลายต่างก็มีความสะดวกสบายด้วยอาหารทั่วถึงกัน ในวันนั้นเอง ผ้าจีวรอันประณีตมีค่ามาก เกิดแต่ฝีมือของพระสงฆ์สาวกพร้อมกัน กะ ตัด เย็บ และย้อมด้วยน้ำฝาด ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับเป็นประธาน รับเป็นพนักงานสนเข็มให้ก็สำเร็จเรียบร้อยด้วยดี ตกเป็นสมบัติอันมีค่าของ พระอนุรุทธเถระเจ้า สมประสงค์ทุกประการ
          พระพุทธจริยาตอนทรงมีพระเมตตากรุณา ทรงสนเข็มให้เหล่าสาวกเย็บจีวรของ พระอนุรุทธเถระ นั่นเอง เป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูป ที่เรียกว่า ปางสนเข็ม
    ปีมะแม      
พระปางประทานพร

            พระพุทธรูปปางนี้มี ๒ แบบ คือ แบบหนึ่งอยู่ในพระอิริยาบถยืน ยกพระหัตถ์ซ้ายขึ้นเสมอพระอุระ หงายฝ่าพระหัตถ์ออกไปข้างนอกบ้าง ยกขึ้นเสมอพระอังสาถือชายจีวรบ้าง พระหัตถ์ขวาห้อย หันฝ่าพระหัตถ์ออกไปข้างหน้าเป็นกิริยาประทาน
           อีกแบบหนึ่ง อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายอยู่บนพระเพลา พระหัตถ์ขวาแบฝ่าพระหัตถ์ ยื่นออกไปวางหงายอยู่บนพระชานุ

ประวัติความเป็นมา

           พระพุทธรูปปางประทานพร  มีประวัติความเป็นมาเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ ๓ เรื่องคือ
           ๑.    ทรงประทานพร แก่ หมอชีวกโกมารภัจจ์ นายแพทย์ประจำพระองค์
๒.  ทรงประทานพร ๘ ประการ แก่ พระอานนท์มหาอุปัฏฐาก
๓.  ทรงประทานพร ๘ ข้อ แก่ นางวิสาขามหาอุบาสิกา

          เมื่อพระพุทธองค์เสด็จจาริกไปแสดงธรรมสั่งสอนพุทธเวไนย ณ พระนครพาราณสี ครั้นใกล้เทศกาลเข้าพรรษา จึงเสด็จพุทธดำเนินมายังพระนครสาวัตถีพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวก เสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี และพระพุทธองค์ได้ประทานพรให้แก่ หมอชีวกโกมารภัจจ์ ที่อัมพวันสวนมะม่วงของ หมอชีวก ทรงประทานพรให้แก่ พระอานนท์เถระ ให้เข้าเฝ้าได้ทุกเวลา ให้ถามปัญหาได้ทุกข้อ และทรงประทานพรให้แก่ นางวิสาขามหาอุบาสิกา ให้ถวายเครื่องอุปโภคบริโภคให้แก่พระสงฆ์ ในเช้าวันฝนตกหนัก พระพุทธองค์ได้มีบัญชาให้พระสงฆ์อาบน้ำฝน สมัยนั้นยังไม่มีผ้าอาบน้ำฝน หญิงรับใช้มาพบพระภิกษุเปลือยกายอาบน้ำฝนเข้าใจว่าเป็นพวกนักบวชลัทธิชีเปลือย จึงกลับไปบอกแก่ นางวิสาขา หลังจากที่ถวายภัตตาหารและพระพุทธองค์ได้กระทำภัตกิจเสร็จแล้ว จึงได้เข้าไปกราบทูลขอประทานพรจากพระพุทธองค์ นางวิสาขา จึงเป็นอุบาสิกาคนแรกที่ดำริถวายอุทกสาฎกให้แก่พระสงฆ์และนางภิกษุณีตลอดชีวิตเป็นพร ๘ ประการ คือ
          พรที่ ๑         ขอให้หม่อมฉันได้ถวายวัสสิกสาฎก ผ้าอาบน้ำฝน
          พรที่ ๒        ขอให้หม่อมฉันได้ถวายอาคันตุกภัต อาหารสำหรับพระต่างถิ่นที่จรมา
          พรที่ ๓        ขอให้หม่อมฉันได้ถวายคมิกภัต อาหารสำหรับพระเตรียมจะเดินไกล
          พรที่ ๔        ขอให้หม่อมฉันได้ถวายคิลานภัต อาหารสำหรับพระอาพาธ
          พรที่ ๕        ขอให้หม่อมฉันได้ถวายคิลานุปัฏฐากภัต อาหารสำหรับพระพยาบาลพระอาพาธ
          พรที่ ๖         ขอให้หม่อมฉันได้ถวายคิลานเภสัช ยาสำหรับพระอาพาธ
          พรที่ ๗        ขอให้หม่อมฉันได้ถวายธุวยาคู ยาคูประจำ
          พรที่ ๘        สำหรับภิกษุณีสงฆ์ ขอให้หม่อมฉันได้ถวายอุทกสาฎก ผ้าผลัดอาบน้ำจนตลอดชีวิต

          ครั้นแล้ว พระพุทธองค์ก็ได้ทรงประทานพรแล้วตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย จำเดิมแต่นี้ไปเราอนุญาตผ้าวัสสิกสาฎก อาคันตุกภัต คมิกภัต คิลานภัต คิลานุปัฏฐากภัต คิลานเภสัช ยาคูประจำ และอนุญาตอุทกสาฎกสำหรับภิกษุณีสงฆ์ จบลงด้วยพระโอวาทที่ตรัสประทานพร ตักเตือนให้ภิกษุสงฆ์

ประวัตินางวิสาขาอุบาสิกา

          นางวิสาขา เป็นบุตรีของ ธนัญชัยเศรษฐี แห่งเมืองภัททิยนคร แคว้นอังคะ (อยู่ในอารักขาของแคว้นมคธ) มารดาของนางวิสาขา มีนามว่า สุมนาเทวี แต่เดิมท่านเมณฑกเศรษฐี ผู้เป็นปู่ของ นางวิสาขา เป็นหนึ่งในจำนวนเศรษฐีใหญ่ ๕ ตระกูลแห่งแคว้นมคธ อันได้รับแต่งตั้งจาก พระเจ้าพิมพิสาร คือ

เศรษฐีใหญ่ ๕ ตระกูล แห่งแคว้นมคธ
๑.    ไชยเศรษฐี
๒.  ชฎิลเศรษฐี
๓.  ปุณณกเศรษฐี
๔.  กาลวัลลิยเศรษฐี
๕.  เมณฑกเศรษฐี ซึ่งเป็นตระกูลเศรษฐีที่ใหญ่ที่สุด

เศรษฐีใหญ่ ๒ ตระกูล แห่งแคว้นโกศล
          ส่วนแคว้นโกศลของ พระเจ้าปเสนทิโกศล มีเศรษฐีใหญ่อยู่ ๒ ตระกูล คือ อนาถบิณฑิกเศรษฐี และ มิคารเศรษฐี ต่อมาท่านธนัญชัยเศรษฐี บุตรชายของเมณฑกเศรษฐีได้ย้ายไปตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ แคว้นโกศล ตามที่ พระเจ้าปเสนทิโกศล ทูลขอต่อ พระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งในขณะนั้นนางวิสาขาอายุได้ ๙ ปี ครอบครัวของท่านธนัญชัยเศรษฐีตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ สถานที่ซึ่งกลายเป็นเมืองสาเกตอันห่างจากพระนครสาวัตถี แคว้นโกศลประมาณ ๗ โยชน์ (หนึ่งโยชน์มีความยาว ๔๐๐ เส้น

          นางวิสาขา เป็นหญิงที่ได้รับการยกย่องว่ามีลักษณะ เบญจกัลยาณี ได้แก่
๑.    มีผมงาม คือ ผมของนางเหมือนกับหางนกยูง เมื่อปล่อยสยายลงปลายผมยาวถึงผ้านุ่ง และ ปลายผมงอนช้อนขึ้น
๒.  มีเนื้องาม คือ เหงือกที่หุ้มฟันมีสีสุกเช่นผลมะพลับ เนื้อสม่ำเสมอมิดชิด (ตามตำราพราหมณ์)
๓.  มีฟันงาม คือ ฟันขาวสะอาดเหมือนสังข์ที่ขัดแล้ว ฟันขึ้นเป็นระเบียบสม่ำเสมอ
๔.  มีผิวงาม คือ ปราศจากไฝฝ้าราคี ถ้าผิวดำก็ดำสนิทเช่นพวงอุบลสีเขียว ถ้าผิวขาวก็ขาวสะอาดเช่นพวงกรรณิการ์
๕.  มีวัยงาม คือ ทรงความเป็นสาวอยู่ได้ไม่ร่วงโรย

ปุณณวัฒนะได้บอกกับพ่อแม่ที่ได้ขอให้ตนแต่งงานว่า จะแต่งงานเฉพาะกับหญิงที่มีความงามตามลักษณะเบญจกัลยาณีเท่านั้น ทั้งนี้เพราะแต่แรกมิได้มีความประสงค์จะมีครอบครัวในเวลานั้น เพียงแต่กระทำหน้าที่ลูกที่ดีตามธรรมเนียมพราหมณ์ในสมัยนั้น ซึ่งผู้เป็นบิดามารดาต้องจัดให้ลูกแต่งงานมีครอบครัว มิคารเศรษฐีได้ขอให้พราหมณ์ชั้นผู้ใหญ่จำนวน ๑๐๘ คน ช่วยเหลือ
          พราหมณ์ใช้เวลาเสาะหาหญิงที่มีความงามตามลักษณะเบญจกัลยาณีหลายวัน จนวันหนึ่งเมืองสาเกตมีงานนักขัตฤกษ์ พราหมณ์ได้พบ นางวิสาขา ซึ่งขณะนั้นมีอายุ ๑๕ ปี เป็นหญิงที่มีความงามซึ่งปรากฏ ๓ อย่าง คือ ผิวงาม ผมงาม และวัยงาม พอดีฝนตกลงมา หญิงบริวารทั้ง ๕๐๐ พากันวิ่งเข้าหลบในศาลา แต่นางวิสาขายังคงก้าวเดินตามปกติ พราหมณ์เห็นอุบายก็จะดูว่า นางมีฟันและเนื้อ (เหงือก) งามตามตำราหรือไม่ จึงแกล้งตำหนิว่า นางเป็นหญิงอ่อนแอ เกียจคร้าน จึงไม่วิ่งเข้ามาหลบฝนในศาลาเหมือนหญิงสาวคนอื่นๆ คงไม่สามารถเป็นแม่บ้านที่ดีได้แน่
          นางวิสาขา อธิบายให้พราหมณ์ฟังว่า มีคนอยู่ ๔ จำพวก ที่วิ่งแล้วไม่งาม คือ
๑.    พระราชา
๒.  ช้างมงคลหัตถี
๓.  บรรพชิต
๔.  กุลสตรี
และเกรงว่า หากวิ่งไปเกิดพลาดพลั้งหกล้มเป็นอันตราย บิดามารดาก็จะเสียใจ พราหมณ์เห็นว่านางเป็นหญิงที่มีความงามต้องตามตำราเบญจกัลยาณีจึงยื่นพวงมาลัยทองคำที่เตรียมมาสวมศีรษะ นางวิสาขา อันเป็นเครื่องหมายว่าต้องการนำไปเป็นแม่เรือนตามธรรมเนียมพราหมณ์ในสมัยนั้น
     ก่อนส่งตัวนางวิสาขาไปยังบ้านเจ้าบ่าว ท่านธนัญชัยเศรษฐีได้ให้โอวาทเกี่ยวกับการครองเรือนไว้ ๑๐ ประการดังนี้

โอวาท ๑๐ ประการของ ธนัญชัยเศรษฐี
๑.    ไฟในอย่านำออก หมายถึง ไม่ควรนำความลับหรือเรื่องไม่ดีงามภายในครอบครัวไปบอกเล่าให้คนภายนอกได้รับรู้
๒.  ไฟนอกอย่านำเข้า หมายถึง ไม่ควรนำคำนินทาว่าร้ายเสียดสีด้วยความอิจฉาริษยาจากบุคคลภายนอกมาสู่ครอบครัว อันเป็นเหตุให้เกิดเรื่องไม่ดีงามและความบาดหมาง
๓.    พึงให้แก่คนที่ให้ หมายถึง คนที่เคยเกื้อหนุนเอื้อเฟื้อ ควรมีน้ำใจไมตรีตอบแทน เมื่อมีผู้มาหยิบยืมข้าวของเงินทอง ควรให้แก่คนที่นำมาคืนเท่านั้น
๔.  พึงอย่าให้แก่คนที่ไม่ให้ หมายถึง คนที่ไม่เคยเกื้อหนุนเอื้อเฟื้อมีน้ำใจ ก็ไม่ควรทำใจกว้างหรือทำหน้าใหญ่ใจโต ผู้ที่เคยหยิบยืมแล้วไม่นำมาคืน คราวต่อไปหากยังกล้ามาหยิบยืมอีก ไม่ควรให้
๕.  พึงให้แก่คนที่ให้และไม่ให้ หมายถึง การสงเคราะห์ญาติและมิตรสหายแม้เขาจะนำมาคืนหรือไม่ก็ตาม เมื่อเห็นว่าเป็นการสมควรหรือเขาเป็นคนดี ควรแก่การเกื้อหนุนอนุเคราะห์ ก็ควรให้
๖.  พึงนั่งให้เป็นสุข หมายถึง การนั่งในที่อันเหมาะอันควร ไม่เกะกะขวางทาง ไม่ต้องคอยลุกเมื่อพ่อผัวแม่ผัวหรือผู้ใหญ่เดินผ่าน และนั่งเมื่อจัดการงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว
๗.  พึงนอนให้เป็นสุข หมายถึง ควรนอนทีหลังพ่อผัวแม่ผัว และสามีได้เข้านอนแล้ว คือ ต้องตรวจดูข้าวของ กลอนประตู หน้าต่าง และฟืนไฟให้เป็นที่เรียบร้อย ทั้งจัดแจงข้าวของที่จำเป็นสำหรับหุงหา หรือใช้สอยในวันรุ่งขึ้นให้พร้อมมูลครบครัน จึงจะถือได้ว่าเป็นแม่บ้านแม่เรือนที่ดี
๘.  พึงกินให้เป็นสุข หมายถึง ควรจัดข้าวปลาอาหารสำหรับพ่อผัวแม่ผัวสามีและบุตร ให้เป็นที่เรียบร้อย
๙.  พึงบูชาไฟ หมายถึง การให้ความเคารพยำเกรงสามี และบิดามารดาของสามี ตลอดจนญาติผู้ใหญ่
 ๑๐.  พึงบูชาเทวดา หมายถึง ให้นับถือบิดามารดาสามี และบรรพบุรุษ

เครื่องมหาลดาปสาธน์
                         ตระกูลบิดาของ นางวิสาขาเป็นตระกูลที่ร่ำรวยมหาศาล มีทรัพย์มากกว่าตระกูลของ มิคารเศรษฐี บิดา ปุณณวัฒนะ ผู้เป็นสามี นางวิสาขา เป็นหญิง ๑ ใน ๓ ของชมพูทวีปที่มีเครื่องประดับพิเศษในวันแต่งงานซึ่งเรียกว่า มหาลดาปสาธน์ เป็นเครื่องประดับที่ใช้สวมศีรษะให้คลุมลงถึงหลัง ส่วนบนทำเป็นรูปนกยูงทอง ๑ ตัว ปีกขวาและซ้ายมีขนทองคำข้างละ ๕๐๐ ขน และก้านขนมีเสียงดนตรีเห่กล่อมได้ ซึ่งรวมแล้วต้องใช้ทองคำเนื้อดี ๑,๐๐๐ แท่ง ประดับด้วยแก้วมณี แก้วมุกดา แก้วประพาฬ ๒๓ ทะนาน และเพชรอีก ๒๑ ทะนาน ฯลฯ
ในโลกมีหญิงเพียง ๓ คนเท่านั้นที่มีเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ คือ
๑.   นางวิสาขามหาอุบาสิกา
๒.  นางมัลลิกา ภรรยาของ พันธุลเสนาบดี
๓.  ลูกสาวเศรษฐีกรุงพาราณสี

นางวิสาขาสร้างวิหารชื่อ โลหะประสาท
          วันหนึ่ง นางวิสาขา แต่งตัวด้วยเครื่องมหาลดาปสาธน์ไปในงานมหรสพที่ได้รับเชิญ พร้อมด้วยหญิงรับใช้ชื่อ สุปปิยา และเลยไปฟังธรรมที่พระเชตวันมหาวิหาร โดยถอดเครื่องมหาลดาปสาธน์ฝากไว้กับนางสุปปิยา หลังจากฟังพระธรรมเทศนาแล้วจึงเดินไปเยี่ยมภิกษุที่อาพาธ พระอานนท์ เห็นเครื่องมหาลดาปสาธน์เข้าใจว่า นางวิสาขาลืมไว้ จึงนำไปคล้องไว้ที่ข้างบันไดตามรับสั่งของพระพุทธเจ้า นางวิสาขาเมื่อทราบว่า พระอานนท์เถระจับต้องเครื่องประดับของตนแล้ว จึงตั้งใจถวายแด่สงฆ์ แต่เห็นว่าสงฆ์คงเก็บรักษาไว้ลำบาก จึงนำออกจำหน่ายเพื่อนำเงินมาสร้างวัด โดยช่างทองตีราคาเครื่องมหาลดาปสาธน์ในราคา ๙ โกฏิ รวมทั้งค่ากำเหน็จ (ค่าทำ) อีกหนึ่งแสน แต่หาหญิงมีบุญที่จะแต่งเครื่องประดับนี้ไม่ได้ นางวิสาขา จึงซื้อเอาไว้เองแล้วนำเงินจำนวน ๙ โกฏิ ๑ แสน สร้างปราสาทแบบ ๒ ชั้น ชั้นล่างมี ๕๐๐ ห้อง ชั้นบนมี ๕๐๐ ห้อง ยอดปราสาททำด้วยทองคำและทองสัมฤทธิ์มีความวิจิตรพิสดารมาก จึงเรียกว่า โลหะปราสาท โดย พระโมคคัลลานเถระ เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง

          ในสมัยต่อมา พระเจ้าทุฏฐคามามินิ แห่งศรีลังกา ได้นำแบบไปก่อสร้าง (เพื่อเป็นการฉลองเอกราชที่ลังการบชนะพวกทมิฬ ราวสองพันปีล่วงมาแล้ว) เป็นปราสาทแบบ ๙ ชั้น ขนาดยาวด้านละ ๑๐๐ เมตร มี ๑,๐๐๐ ห้องเช่นกัน นับเป็นโลหะปราสาทหลังที่ ๒ ของโลก ส่วนหลังที่ ๓ คือ โลหะปราสาทที่วัดราชนัดดา กรุงเทพมหานคร สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นปราสาทแบบ ๓ ชั้น ชั้นที่ ๑ มียอดสวยงาม ๒๔ ยอด ชั้นที่ ๒ มี ๑๒ ยอด ชั้นที่ ๓ มี ๓๗ ยอด อันหมายถึงหลักธรรมะสำคัญ ๓๗ ประการ เรียกว่า โพธิปักขิยธรรม คือ ธรรมเป็นไปในทางปัญญาเครื่องตรัสรู้ ประกอบด้วยธรรม ๗ หมวด ได้แก่

โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ
๑. สัมมัปปธาน ๔ (ความเพียร ๔ ประการ) ได้แก่
- สังวรปธาน         เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในจิตใจ
- ปหานปธาน        เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว
- ภาวนาปธาน       เพียรให้กุศลเกิดขึ้นในจิตใจ
- อนุรักขนาปธาน  เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วมิให้เสื่อม
๒. อิทธิบาท ๔ (คุณธรรมให้สำเร็จความประสงค์ ๔ ประการ)
          - ฉันทะ                 ความพอใจรักใคร่สิ่งนั้น
          - วิริยะ                   ความเพียรเพื่อประกอบสิ่งนั้น
          - จิตตะ                  ความเอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้น ไม่วางธุระ 
          - วิมังสา                ความหมั่นตริตรองพิจารณาเหตุผลในสิ่งนั้น
๓. สติปัฏฐาน ๔ (สิ่งที่เราควรจะระลึกถึง ๔ ประการ)
          - กายานุปัสสนา     การตั้งสติพิจารณากาย
          - เวทนานุปัสสนา  การตั้งสติพิจารณาเวทนา
          - จิตตานุปัสสนา    การตั้งสติพิจารณาใจที่เศร้าหมอง หรือผ่องแผ้ว
          - ธัมมานุปัสสนา   การตั้งสติพิจารณาธรรมที่เป็นกุศลหรืออกุศล
๔. พละ ๕ (ธรรมที่เป็นใหญ่ในการปฏิบัติ ๕ ประการ)
          - สัทธา                  ความเชื่อ
          - วิริยะ                   ความเพียร
          - สติ                      ความระลึกได้
          - สมาธิ                  ความตั้งใจมั่น
          - ปัญญา                ความรอบรู้
๕.อินทรีย์ ๕ (ธรรมอันเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน ๕ ประการ)
          - สัทธา                  เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ (เชื่อในกรรม)
          - วิริยะ                   ความเพียร
          - สติ                      ความระลึกได้
          - สมาธิ                  ความตั้งใจมั่น
          - ปัญญา                ความรู้ชัดในเหตุผล
๖.โพชฌงค์ ๗ (ธรรมเป็นข้อปฏิบัติเพื่อความตรัสรู้ ๗ ประการ)
          - สติ                      ความระลึกได้
          - ธัมมวิจยะ             ความสอดส่องธรรม
          - วิริยะ                    ความเพียร
          - ปีติ                      ความอิ่มใจ
          - ปัสสัทธิ               ความสงบใจและอารมณ์
          - สมาธิ                  ความตั้งใจมั่น
          - อุเบกขา               ความวางเฉย

๗.มรรคมีองค์ ๘ (ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ๘ ประการ)
          - สัมมาทิฏฐิ คือ มีปัญญาอันเห็นชอบ ได้แก่ เห็นในอริยสัจ ๔
          - สัมมาสังกัปปะ คือ ความดำริชอบได้แก่
                   - ดำริที่จะออกจากกาม                (เนกขัมมสังกัปป์)
                   - ดำริในการไม่พยาบาทปองร้ายผู้อื่น  (อพยาปาทสังกัปป์)
                   - ดำริในการไม่เบียดเบียนผู้อื่น         (อวิหิงสาสังกัปป์)
          - สัมมาวาจา คือ วาจาชอบ ได้แก่ เว้นจากวจีทุจริต ๔ ประการ คือ ไม่ประพฤติชั่วทางวาจา ได้แก่
                   - มุสาวาทัง ปหาย     ฯเปฯ ไม่พูดเท็จ
                   - ปิสุณัง วาจัง ปหาย  ฯเปฯ ไม่พูดส่อเสียด ยุยง ให้เขาแตกร้าวกัน
                   - ผรุสัง วาจัง ปหาย   ฯเปฯ ไม่พูดคำหยาบคาย
                   - สัมผัปปลาปัง ปหาย ฯเปฯ ไม่พูดคำเพ้อเจ้อเหลวไหลไร้สาระ
           - สัมมากัมมันตะ คือ ทำการงานชอบ โดยประกอบการงานที่ไม่ผิดประเพณี ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดศีลธรรม และเว้นจากกายทุจริต ๓ ได้แก่
                   - ปาณาติปาตัง ปหาย ฯเปฯ  เว้นจากการเบียดเบียนฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
                   - อทินนาทานัง ปหาย ฯเปฯ  เว้นจากการลักขโมย และฉ้อฉลคดโกงแกล้งทำลายผู้อื่น
                   - กาเมสุมิจฉาจารัง ปหาย ฯเปฯ  เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
           - สัมมาอาชีวะ คือ เลี้ยงชีวิตชอบ ได้แก่ ประกอบสัมมาอาชีพ
                   - เว้นจากการเลี้ยงชีพในทางที่ผิด คือ
                   - เว้นจากการค้าขายเครื่องประหารมนุษย์และสัตว์
                   -เว้นจากการค้าขายมนุษย์ไปเป็นทาส
                   - เว้นจากการค้าสัตว์สำหรับฆ่าเป็นอาหาร
                   - เว้นจากการค้าขายน้ำเมา
                   - เว้นจากการค้าขายยาพิษ
          - สัมมาวายามะ คือ มีความเพียรชอบ ๔ ประการ ได้แก่
                   - เพียรระวังมิให้บาปหรือความชั่วเกิดขึ้น
                   - เพียรละบาปหรือความชั่วที่เกิดขึ้นแล้ว
                   - เพียรทำกุศลหรือความดีให้เกิดขึ้น
                   - เพียรรักษากุศลหรือความดีที่เกิดขึ้นแล้วให้คงอยู่
          - สัมมาสติ คือ การระลึกชอบ ได้แก่ การระลึกวิปัสสนากรรมฐาน ได้แก่ การระลึกในกายเวทนาจิต และธรรม ๔ ประการ คือ
                   - พิจารณากาย        ระลึกได้เมื่อรู้สึกสบายหรือไม่สบายพิจารณาลมหายใจเข้าออก
                   - พิจารณาเวทนา    ระลึกได้เมื่อรู้สึกสุขหรือทุกข์หรือเฉยๆ
                   - พิจารณาจิต         ระลึกได้ว่าจิตมี ราคะ โทสะ โมหะ หรือไม่
                   - พิจารณาธรรมให้เกิดปัญญา    ระลึกได้ว่า อารมณ์อย่างไรกำลังผ่านเข้ามาในใจ
          - สัมมาสมาธิ คือ ตั้งใจชอบ ทำจิตให้สงบ ระงับจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง ให้มีอารมณ์แน่วแน่เป็นอันเดียว เพื่อให้จิตจดจ่อไม่ฟุ้งซ่าน  หาอารมณ์อันไม่มีโทษให้จิตยึดจะได้ไม่พร่าไปหลายทาง
          นางวิสาขามหาอุบาสิกา ได้ชักนำให้ มิคารเศรษฐี ผู้เป็นพ่อผัวหันมานับถือพระพุทธศาสนา เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนา ได้รับรสพระธรรมเทศนา อันซาบซึ้งมิคารเศรษฐี เห็นว่า นางวิสาขา เป็นผู้นำตนเข้าสู่ธรรม

จึงนับถือเป็นมารดา นางวิสาขา ได้นามว่า มิคารมาตา (มารดาของมิคาร) นับแต่นั้นเป็นต้นมา

          พระพุทธจริยาตอนประทานพรแก่ หมอชีวกโกมารภัจจ์ก็ดี ตอนทรงประทานพรแก่ พระอานนท์เถระ ผู้เป็นพุทธอุปัฏฐากก็ดี ตอนทรงประทานพรแก่นางวิสาขาทั้ง ๘ ประการนี้ก็ดี นับเป็นมงคลนิมิตหมายอันดี เป็นเหตุให้จัดสร้างพระพุทธรูป ที่เรียกว่า ปางประทานพร ขึ้น



       ปีวอก       
พระปางปฐมบัญญัติ

ลักษณะพระพุทธรูป


          พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ ยกฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองตะแคงยื่นตรงออกไปข้างหน้า เป็นกิริยาบัญญัติพระวินัย เพื่อรักษาพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่ตลอดกาลนาน

ประวัติความเป็นมา

          สมัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ ควงไม้สะเดาที่ วเฬรุยักษ์สิงสถิต ใกล้เมืองเวรัญชา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เวรัญชพราหมณ์ ผู้ครองเมืองเวรัญชา ได้ทราบกิตติศัพท์ของพระพุทธองค์ ซึ่งฟุ้งขจรไปว่า พระองค์เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงคุณสมบัติของพระพุทธเจ้าบริบูรณ์ ทรงแสดงธรรมไพเราะนัก ประกาศพรหมจรรย์บริบูรณ์ การได้เห็นพระอรหันต์ทั้งหลายผู้ทรงคุณสมบัติเห็นปานนั้นเป็นความดี

          ดังนั้น เวรัญชพราหมณ์ จึงเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้ายังที่ประทับ ครั้นผ่านการปราศรัยพอสมควรแล้ว ได้ทูลถามพระพุทธองค์ว่า
          ได้ยินว่าพระองค์ไม่ไหว้ ไม่ลุกรับพราหมณ์ผู้เฒ่าผู้แก่ หรือไม่เชื้อเชิญด้วยอาสนะ ข้อนี้ไม่สมควรเลย
          พระพุทธเจ้าตรัสว่า
          ดูกร พราหมณ์ ในโลกนี้หรือในโลกอื่น เรายังไม่เล็งเห็นบุคคลที่ควรไหว้ควรลุกรับ หรือควรเชื้อเชิญด้วยอาสนะ เพราะตถาคตพึงไหว้ พึงลุกรับ หรือพึงเชื้อเชิญด้วยอาสนะ ศีรษะบุคคลนั้นก็พึงจะขาดตกไป
          ท่านพระโคดมเป็นคนไม่มีรส พราหมณ์กล่าวตู่
          จริง พราหมณ์
          พระพุทธองค์ตรัสตอบ
          เพราะรสในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งที่มากระทบกาย) เราละได้แล้ว ตัดรากขาดเสียแล้ว แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านกล่าวหมาย
          เราเป็นผู้ไม่มีโภคะ เพราะโภคะ คือ รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ เราได้ละแล้ว เราเป็นผู้กล่าวการไม่ทำบาป การไม่ทำสิ่งชั่วด้วย กาย วาจา ใจ
          เราเป็นผู้กล่าวความขาดสูญแห่ง ราคะ โทสะ โมหะ กำจัดบาปอกุศลทั้งมวล
          เราเป็นผู้เผาผลาญบาป คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ด้วยเป็นธรรมที่ควรเผาผลาญ
         เราเป็นผู้ไม่ผุดเกิด เพราะการนอนในครรภ์ การเกิดในภพใหม่ ผู้ใดละได้ทำให้ไม่มีได้อีกต่อไป ผู้นั้นย่อมไม่ผุดเกิดอีก แต่ทั้งหมดนี้ มิใช่เป็นดังคำหรือความหมายที่ท่านกล่าวตู่

เมื่อพราหมณ์ทูลถามตามความสงสัยของตนแล้ว พระพุทธองค์ตรัสตอบเวรัญชพราหมณ์ได้สดับแล้วเกิดความเลื่อมใส ทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนาแล้วปฏิญาณตนเป็นอุบาสก เข้าถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต พร้อมกับทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคกับทั้งพระภิกษุสงฆ์ให้อยู่จำพรรษาในเมืองเวรัญชา
ครั้นทราบว่า พระพุทธองค์ทรงรับอาราธนาแล้ว ก็ถวายบังคมทูลลากลับไป

ในพรรษานั้น พระสารีบุตรได้ทูลถามถึงพระศาสนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่ล่วงลับไปแล้วว่า พระศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์ไหนดำรงอยู่ได้นาน พระองค์ไหนดำรงอยู่ได้ไม่นาน พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ศาสนาของพระพุทธเจ้าพระนามว่า พระวิปัสสี พระสิขี พระเวสสภู ดำรงอยู่ไม่นาน เพราะทรงแสดงธรรมไว้น้อย ทั้งมิได้ทรงบัญญัติสิกขาบทและมิได้แสดงปาติโมกข์แก่สาวกทั้งหลาย นี่คือเหตุที่พระศาสนาดำรงอยู่ได้ไม่นาน
ศาสนาของพระพุทธเจ้าพระนามว่า พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ และพระกัสสปะ ดำรงอยู่ได้นานเพราะทรงแสดงธรรมไว้มาก ทรงบัญญัติสิกขาบทและทรงแสดงปาติโมกข์ นี่คือเหตุที่พระศาสนาดำรงอยู่ได้นาน พระสารีบุตร จึงกราบทูลให้พระพุทธองค์ทรงบัญญัติสิกขาบท

และทรงแสดงพระปาติโมกข์ พระพุทธองค์ตรัสว่า เมื่อมีภิกษุประพฤติไม่ชอบด้วยธรรมวินัยในศาสนา จึงจะบัญญัติสิกขาบทและแสดงปาติโมกข์ ครั้นออกพรรษาแล้ว พระพุทธองค์จึงนำเสด็จพระภิกษุสงฆ์พุทธสาวกออกจากเมืองเวรัญชา จาริกไปตามพระอัธยาศัยเสด็จผ่านเมืองโสเรยยะ เมืองสังกัสสะ เมืองกัณณะกุชชะ โดยไม่ทรงแวะประทับ แต่ได้เสด็จประทับ ณ นครพาราณสี แคว้นกาสี พอสมควรแก่พระอัธยาศัยแล้วเสด็จจาริกไปนครเวสาลี แคว้นวัชชี ประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน

ครั้งนั้น มีเศรษฐีบุตรคนหนึ่งชื่อว่า สุทินกลันทบุตร อยู่ในบ้านกลันทคามใกล้นครเวสาลี ได้สดับพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าแล้วมีความเลื่อมใส มีศรัทธาจะบวชในพระพุทธศาสนา จึงเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระพุทธองค์ตรัสว่า ในพระธรรมวินัยนี้ จะรับกุลบุตรบวชเฉพาะผู้ที่บิดามารดาได้อนุญาตแล้ว

สุทินกลันทบุตร ดีใจถวายบังคมลากลับเรือน เข้าไปหามารดา บิดา ขออนุญาตบวช ท่านเศรษฐีผู้เป็นบิดามารดาไม่ยอมอนุญาตกล่าวว่า
พ่อเป็นลูกคนเดียว ทรัพย์สมบัติมีมาก ใครจะเป็นผู้รับมรดก
สุทินกลันทบุตร เสียใจไม่บริโภคอาหาร คิดอยู่แต่ว่าอยู่ก็บวช ไม่ให้บวชก็ตายเท่านั้น อดอาหารมาได้ ๗ วัน เพื่อนของ สุทินกลันทบุตรไปเยี่ยมบอกท่านเศรษฐีว่าควรอนุญาตให้ สุทิน บวชเถิด เพราะถ้าไม่ได้บวชก็จะตาย ไม่มีโอกาสเห็นกัน ถ้าบวชแล้วยังมีเวลาเห็นกัน
อนึ่ง การบวชอยู่ในเพศบรรพชิตลำบาก สุทินเคยมีความสุขจะบวชไปไม่เท่าใด ไม่นานก็จะสึกมาครองเรือน มารดา บิดา สุทินกลันทบุตรเห็นชอบด้วยก็อนุญาตให้ สุทินกลันทบุตร บวช
          สุทินกลันทบุตร ดีใจลุกขึ้นบริโภคอาหาร พักผ่อนให้มีกำลัง ๒-๓ วันแล้วไปเฝ้าพระพุทธองค์ ได้รับอุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา

          เมื่อบวชแล้วก็ประพฤติมั่นอยู่ในธุดงค์คุณถึง ๔ ประการ หลีกออกบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในป่าใกล้บ้านชาววัชชีแห่งหนึ่ง บังเอิญในเวลานั้น วัชชีชนบทข้าวยากหมากแพง ชาวบ้านหาเลี้ยงชีพฝืดเคือง ภิกษุเที่ยวบิณฑบาตไม่ได้อาหาร มีความลำบากมาก พระสุทินคิดว่า ชาวบ้านวัชชีอดอยากเพราะข้าวยากหมากแพง เราควรหลบไปอยู่ที่นครเวสาลีชั่วคราว เพราะญาติมิตรที่มั่งคั่งที่นั่นมีอยู่มากจะไม่ลำบากด้วยอาหารนัก

พระสุทิน จึงได้ออกจากจากบ้านชาววัชชีไปอยู่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวันใกล้พระนครเมืองเวสาลี
          วันหนึ่ง ท่านเศรษฐีผู้เป็นบิดาพบเข้า จึงนิมนต์ พระสุทิน ให้เข้าไปฉันบิณฑบาตในเรือน ได้เอาเงินทองและทรัพย์สมบัติตลอดภรรยาเก่าของพระสุทินมาเล้าโลมให้พระสุทินสึก พร้อมกับรำพันถึงตระกูลมีบุตรคนเดียวไม่มีทายาทรับมรดก
          พระสุทินก็ตอบว่า ยังยินดีในพรหมจรรย์เมื่อบวช มารดาบิดา
พระสุทินหมดหวังจึงขอร้องเป็นวาระสุดท้ายว่า ถ้าเช่นนั้นก็ขอพืชพันธุ์ไว้เป็นทายาทบ้าง อย่าต้องให้เจ้าลิจฉวีริบทรัพย์สมบัติของเรา ผู้หาบุตรสืบตระกูลมิได้เลย
          ต่อมา พระสุทิน ไม่สบายใจ รู้สึกว่าตนประพฤติไม่ดี ไม่งาม ไม่เหมือนบรรพชิตทั้งหลาย ตรอมใจ ท่านได้ซูบผอม เศร้าหมอง มีทุกข์โทมนัส ซบเซาไม่มีความสุขด้วยเรื่องในใจ ครั้นเพื่อนพรหมจรรย์ไต่ถาม จึงเล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง ภิกษุทั้งหลายได้นำเรื่องนี้ขึ้นกราบทูลให้พระพุทธเจ้าทรงทราบ
          ครั้งนั้น พระพุทธเจ้ารับสั่งให้ประชุมภิกษุทั้งหลาย ตรัสถาม พระสุทินกลันทบุตร ในเรื่องนี้ พระสุทิน ได้กราบทูลตามสัตย์จริงทุกประการ

          พระพุทธองค์ ทรงตำหนิ พระสุทิน เพราะเหตุนี้เป็นอันมาก แล้วรับสั่งว่า เพราะเหตุนี้เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ
๑.    เพื่อความดีแห่งสงฆ์
๒.  เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์
๓.  เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก
๔.  เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก
๕.  เพื่อกำจัดอาสวะอันจะเกิดขึ้นในปัจจุบัน
๖.    เพื่อป้องกันอาสวะอันจะเกิดขึ้นในอนาคต
๗.  เพื่อเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสของผู้ยังไม่เลื่อมใส
๘.  เพื่อความเจริญแห่งความเลื่อมใสของผู้ที่เลื่อมใสแล้ว
๙.    เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม
๑๐.เพื่ออนุเคราะห์พระวินัย

แล้วทรงบัญญัติ ปฐมสิกขาบท กำหนดเป็นปฐมบัญญัติจัดเข้าในอุเทศแห่งพระปาติโมกข์ในพระพุทธศาสนา ด้วยประการฉะนี้
พระพุทธจริยาตอนทรงบัญญัติสิกขาบทอันเป็นปฐมบัญญัตินี้เอง เป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูป ที่เรียกว่า ปางปฐมบัญญัติ

    ปีระกา       
พระปางทรงสุบิน

ลักษณะของพระพุทธรูป
พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถนอนตะแคงข้างขวา (สำเร็จสีหไสยา) พระกรซ้ายทอดทาบไปตามพระวรกาย พระพาหุขวาแนบกับพื้น ยกฝ่าพระหัตถ์ขึ้นแนบพระหนุ (คาง) หลับพระเนตร แล้วงอพระหัตถ์แนบกับพระปราง พระเศียรหนุนพระเขนย เป็นกิริยาบรรทมหลับ

ประวัติความเป็นมา
          เมื่อพระมหาบุรุษทรงเลิกละทุกรกิริยาเปลี่ยนมาทำความเพียรทางใจ ปัญจวัคคีย์ผู้เชื่อจารีตประเพณีคัมภีร์โหรสิ้นหวังพากันหลีกไป พระมหาบุรุษบรมโพธิสัตว์ก็หาได้คลายความเพียรทางใจไม่ การบำเพ็ญเพียรทางใจนั้น ได้เกิดอุปมาเปรียบเทียบ ๓ ข้อ ขึ้นแก่พระมหาบุรุษบรมโพธิสัตว์ ซึ่งพระองค์ไม่เคยสดับและไม่เคยดำริมาก่อนเลย ด้วยพระปรีชาญาณของพระองค์อย่างแจ่มแจ้งว่าไฟ ย่อมอาจสีให้เกิดไฟได้เป็นแน่แท้ เพราะไม้นั้นเป็นของแห้ง ทั้งอยู่บนบกอีกด้วย

          สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ซึ่งมีกายยังมิได้หลีกออกจากกาม ยังพอใจรักใคร่ในกามอยู่ ยังละกามไม่ได้ ยังสงบระงับใจไม่ได้ สมณพราหมณ์เหล่านั้นแม้จะพยายามทำความเพียรในทางปฏิบัติให้เข้มแข็ง เสวยทุกขเวทนาอันกล้าแสบ โดยทรมานกายเพียงใดก็ตาม ย่อมจะตรัสรู้ไม่ได้ เหมือนไม้สดชุ่มด้วยยาง บุคคลแช่ไว้ในน้ำอยู่ บุรุษมีความต้องการด้วยไฟ มาถือเอาไม้นั้นไปสำหรับสีไฟ บุรุษนั้นจะพยายามสีไฟด้วยไม้นั้นให้เกิดไฟ ด้วยหวังจะได้ไฟ บุรุษนั้นย่อมไม่อาจให้ไฟเกิดขึ้นได้ และย่อมจะไม่ได้ไฟเป็นแน่แท้ ไฟจะไม่เกิดขึ้นเพราะการสีไฟนั้น ต้องเหน็ดเหนื่อยลำบากเปล่า เพราะไม้นั้นยังสด มียางอยู่ แถมยังแช่ไว้ในน้ำอีกด้วย

          อีกข้อหนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง แม้มีกายหลีกออกจากกามแล้ว แต่ยังมีความพอใจรักใคร่ในกามยังละกามไม่ได้ ยังสงบระงับใจไม่ได้ สมณพราหมณ์เหล่านั้น แม้พยายามทำความเพียรในทางปฏิบัติ เข้มแข็งจนได้เสวยทุกขเวทนาเช่นนั้น อันเกิดเพราะความเพียรนั้นเพียงใดก็ตาม ก็ย่อมจะตรัสรู้ไม่ได้ เหมือนไม้สดที่ชุ่มด้วยยาง แม้ห่างไกลจากน้ำคือไม่ได้แช่ไว้ในน้ำ บุคคลเอาตั้งไว้บนบก บุรุษผู้มีความต้องการไฟจึงเอาไม้สดที่มียางนั้นมาสีไฟ ก็ไม่สามารถทำให้เกิดไฟได้ ก็ย่อมจะไม่ได้ไฟเป็นแน่แท้ ด้วยไฟจะไม่เกิดขึ้นได้ ต้องเหน็ดเหนื่อยลำบากเปล่า เพราะไม้ยังสดอยู่ชุ่มด้วยยางด้วย

          อีกข้อหนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีกายออกจากกามแล้ว และละความพอใจรักใคร่ในกามได้ ทำใจให้สงบระงับดีแล้ว เมื่อสมณพราหมณ์เหล่านั้น ได้พยายามทำความเพียรในทางปฏิบัติ จะได้เสวยทุกข์ทรมานหรือหาไม่ก็ตาม ก็ย่อมจะตรัสรู้ได้ เหมือนไม้แห้งและอยู่ห่างไกลจากน้ำ คือที่บุคคลวางไว้บนบก บุรุษผู้มีความต้องการไฟ เอาไม้นั้นมาสี
          อุปมาทั้ง ๓ ข้อนี้ ได้เป็นกำลังสนับสนุนพระหฤทัยให้พระมหาบุรุษทรงมั่นหมายในการทำความเพียรทางใจว่า จะเป็นทางให้พระองค์ได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยแน่แท้
          ฝ่ายพระปัญจวัคคีย์ ผู้มีความนิยมทุกรกิริยา เลื่อมใสในลัทธิทรมานกายให้ลำบากว่า เป็นทางที่จะได้ตรัสรู้ได้
          ครั้นเห็นพระมหาบุรุษละความเพียร เวียนมาเพื่อความมักมากเสียแล้วเช่นนั้น ก็เกิดความเบื่อหน่ายในอันที่จะบำรุงอีกต่อไป ด้วยเห็นว่าพระองค์คงไม่สามารถบรรลุธรรมวิเศษอย่างใดอย่างหนึ่งแน่ จึงพากันหลีกหนีไปเสียจากที่นั้น ไปอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี
          พระมหาบุรุษได้ทรงบำเพ็ญเพียรทางใจมาด้วยดีตลอดเวลา จนถึงราตรีวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ เวลาบรรทมหลับ ทรงพระสุบินเป็นบุพนิมิต มหามงคล ๕ ประการ คือ

           ๑. ทรงพระสุบินว่า พระองค์ทรงบรรทมหงายเหนือพื้นปฐพี พระเศียรหนุนภูเขาหิมพานต์ พระหัตถ์หยั่ง
                ลงในมหาสมุทรในทิศตะวันออก พระหัตถ์ขวาและพระบาททั้งคู่หยั่งลงในมหาสมุทรทิศใต้
           ๒. ทรงพระสุบินว่า หญ้าแพรกเส้นหนึ่งออกจากพระนาภี สูงขึ้นไปจนถึงท้องฟ้า
๓. ทรงพระสุบินว่า หมู่หนอนทั้งหลาย สีขาวบ้าง ดำบ้างเป็นอันมาก ไต่ขึ้นมาแต่พื้นพระบาททั้งคู่เต็ม
     พระชงฆ์ และไต่ขึ้นมาถึงพระชานุมณฑล
           ๔. ทรงพระสุบินว่า ฝูงนก ๔ จำพวก มีสีต่างๆ กัน คือ สีเหลือง สีขาว สีแดงสีดำ บินมาแต่ทิศ
                ทั้ง ๔ ลงมาจับแทบพระบาท แล้วก็กลับกลายเป็นสีขาวไปสิ้น
๕. ทรงพระสุบินว่า เสด็จขึ้นไปจงกรมบนยอดภูเขาอันเต็มไปด้วยอาจม แต่อาจมนั้นมิได้เปรอะเปื้อนพระ
     ยุคลบาท

ในพระสุบินทั้ง ๕ ข้อนั้น มีคำทำนายว่า

ข้อ ๑   พระมหาบุรุษจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้เลิศในโลกทั้ง ๓ 
ข้อ ๒   พระมหาบุรุษจะได้ทรงประกาศสัจธรรม เผยมรรคผลนิพพานแก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งมวล 
ข้อ ๓   คฤหัสถ์และพราหมณ์ทั้งหลาย จะเข้ามาสู่สำนักของพระองค์เป็นอันมาก
ข้อ ๔   ชาวโลกทั้งหลาย คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร เมื่อมาสู่สำนักของพระองค์แล้ว จะรู้ทั่วถึงธรรมอันบริสุทธิ์หมดจดผ่องใสไปสิ้น
ข้อ ๕   ถึงแม้พระองค์จะสมบูรณ์ด้วยสักการวรามิสที่ชาวโลกทุกทิศน้อมถวายด้วยความเลื่อมใส ก็มิได้มีพระทัย
           ข้องอยู่ให้เป็นมลทินแม้แต่น้อย 
      
          ครั้นพระมหาบุรุษตื่นบรรทมแล้ว ก็ทรงดำริถึงข้อความในพระมหาสุบินทั้ง ๕ นั้น แล้วทรงทำนายด้วยพระปรีชาญาณของพระองค์เองว่า จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแน่แท้ ก็ทรงเบิกบานพระทัย
          ครั้นได้ทรงทำสรีรกิจ สระสรงพระวรกายหมดจดแล้ว ก็เสด็จมาประทับนั่งที่ร่มไม้นิโครธพฤกษ์ ในยามเช้าแห่งวันเพ็ญวิสาขปุณณมีดิถี กลางเดือน ๖ ปีระกา


    ปีระกา       
ปางรับมธุปายาส
   
ลักษณะของพระพุทธรูป

          พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ แบพระหัตถ์ทั้งสองยื่นออกไปข้างหน้า เป็นกิริยารับมธุปายาส พระปางนี้ทำแบบนั่งห้อยพระบาทก็มี แต่ก็เห็นมีอยู่เฉพาะที่หอกรมานุสรเท่านั้น

ประวัติความเป็นมา

          ณ หมู่บ้านตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แขวงเมืองพาราณสี ไม่ไกลจากที่ประทับของพระมหาบุรุษนัก เช้าตรู่ของวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ธิดาของกุฎุมพีนายบ้านเสนานิคม มีชื่อว่า นางสุชาดา มีความปรารถนาจะทำการบวงสรวงเทวดา ณ ควงไม้นิโครธพฤกษ์นั้น เพราะนางได้ตั้งปณิธานไว้ว่า ขอให้นางได้สามีที่ดีมีสกุลเสมอกัน กับขอให้ได้บุตรคนแรกเป็นบุตรชายสมความปรารถนา นางสุชาดาจึงหุงข้าวมธุปายาส คือ ข้าวสุกหุงด้วยน้ำนมโค เมื่อเสร็จแล้วจัดลงในถาดทองนำไปที่ต้นนิโครธพฤกษ์
            ครั้นถึงต้นไทรก็แลเห็นพระมหาบุรุษงามด้วยรัศมี มีความโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง สำคัญว่าเป็นรุกขเทวดา จึงน้อมถาดข้าวมธุปายาสเข้าไปถวายด้วยความเคารพยิ่ง
            ขณะนั้น บาตรของพระองค์ที่ ฆฏิการพรหมถวายเผอิญได้อันตรธานหายพระองค์จึงทรงเหยียดพระหัตถ์ทั้งสองออกรับข้าวมธุปายาสนั้นทั้งถาด แล้วทอดพระเนตรแลดูนาง นางเห็นพระอาการจึงทูลถวายทั้งถาดโดยทูลว่า
          ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าขอถวายข้าวมธุปายาสพร้อมทั้งถาดภาชนะทองอันรองใส่ ขอพระองค์จงรับไปโดยควรแก่พระหฤทัยปรารถนาเถิด
          แล้วนางก็กราบถวายบังคมลากลับไปยังบ้านแห่งตน พร้อมกับความโสมนัสชื่นชมยินดีเป็นอย่างยิ่ง

        ปีระกา       
ปางเสวยมธุปายาส

ลักษณะของพระพุทธรูป

          พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายประคองถาดมธุปายาส พระหัตถ์ขวาวางบนปากถาด แสดงนิ้วพระหัตถ์ด้วยอาการหยิบมธุปายาสปั้นเสวย

ประวัติความเป็นมา

          เมื่อ นางสุชาดา ทูลลากลับไปแล้ว พระมหาบุรุษจึงเสด็จลุกขึ้นจากที่ประทับ ทรงถือถาดข้าวมธุปายาสเสด็จไปยังฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ประทับนั่งยังที่ริมฝั่งแม่น้ำนั้น บ่ายพระพักตร์สู่บูรพทิศ พระหัตถ์ซ้ายประคองถาดมธุปายาส พระหัตถ์ขวาทรงปั้นข้าวมธุปายาสเป็นปั้นๆ ได้ ๔๙ ปั้น แล้วจึงทรงเสวยจนหมด ครั้นแล้วทรงถือถาดลงไปสู่แม่น้ำเนรัญชราต่อไป


   ปีจอ        
พระปางชี้อัครสาวก

ลักษณะพระพุทธรูป

            พระพุทธรูปปางนี้อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ  พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา  พระหัตถ์ขวายกขึ้นชี้นิ้ว  พระหัตถ์ขวาตรงออกไปข้างหน้า  เป็นกิริยาทรงประกาศอัครสาวกให้ปรากฏในที่ประชุมสงฆ์

ประวัติความเป็นมา

          มาณพสกุลพราหมณ์ ๒ สหาย ชื่อ อุปติสสะ บุตรแห่ง นางสารี เรียกตามโคตรว่า สารีบุตร และโกลิตะ บุตรแห่งนางโมคคัลลี เรียกตามโคตรว่า โมคคัลลานะ ทั้ง ๒ สหายนี้รักใคร่กันมาก มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน เป็นเพื่อนกันมาแต่เล็กแต่น้อย
          เมื่อสองสหายเล่าเรียนศิลปศาสตร์ในสำนักเรียนเดียวกัน แม้สำเร็จการศึกษาแล้ว ก็ยังสนิทสนมกันไปไหนมาไหนด้วยกัน ร่วมสุขร่วมทุกข์กันฉันมิตรอยู่เสมอมา
          วันหนึ่ง สองสหายนี้พร้อมด้วยบริวารไปดูงานบนยอดภูเขา เกิดความสลดใจ ไม่สนุกร่าเริงเหมือนวันก่อนๆ ด้วยเห็นว่า คนเหล่านี้รวมทั้งตัวเราอยู่อีกไม่ถึงร้อยปีก็จะตายสิ้น สิ่งที่เป็นสาระอันควรจะได้จะถึง ควรจะแสวงหาก็ยังมิได้แสวงหา แม้เพียงคิดก็ยังมิได้คิด
          ครั้นสองสหายปรึกษาหารือกันและมีความเห็นร่วมกันแล้ว จึงพร้อมกันออกบวชเป็นปริพาชก อยู่ในสำนักสัญชัยปริพาชก ณ กรุงราชคฤห์นั้น พร้อมด้วยบริวาร ๒๕๐ คน
          สองสหายพยายามศึกษาลัทธิสมัยในสำนักของท่านสัญชัยปริพาชก  แต่ไม่ได้บรรลุธรรมพิเศษอันเป็นที่พอใจของตน  จึงได้สัญญากันไว้ว่า  ผุ้ใดบรรลุธรรมพิเศษก่อนผุ้นั้นจงบอกแก่อีกคนหนึ่ง
          วันหนึ่ง พระอัสสชิ ซึ่งนับเนื่องเข้าในปัญจวัคคีย์ เข้าไปบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์ อุปติสสปริพาชก เดินมาแต่อารามได้เห็นท่านมีอาการน่าเลื่อมใส จะก้าวไป ถอยกลับ แลเหลียว คู้แขน เหยียดแขน เรียบร้อยทุกอิริยาบถ ทอดจักษุแต่พอประมาณ มีอาการแปลกจากบรรพชิตในครั้งนั้น อยากจะทราบความว่าใครเป็นศาสดาของท่าน แต่ยังไม่อาจถาม ด้วยเห็นว่าเป็นการไม่ควรท่านยังเที่ยวไปบิณฑบาตอยู่ จึงติดตามไปข้างหลัง
          เมื่อเห็นท่านกลับจากบิณฑบาตแล้ว จึงเข้าไปใกล้พูดปราศรัยแล้วถามว่า
ท่านผู้เจริญ อินทรีย์ของท่านผ่องใสยิ่งนัก สีผิวของท่านหมดจดผ่องใส -  ท่านบวชจำเพาะใคร?
- ใครเป็นศาสดาผู้สอนของท่าน?
- ท่านชอบใจธรรมของใคร?”
             ผู้มีอายุ
- เราบวชจำเพาะพระมหาสมณะผู้เป็นโอรสแห่งศากยะ ออกบวชจากศากยสกุล
- ท่านเป็นพระศาสดาของเรา
- เราชอบใจธรรมของท่าน
           พระศาสดาของท่านสั่งสอนอะไร?”
           ผู้มีอายุ เราเป็นคนบวชใหม่ บวชยังไม่นาน เพิ่งมายังพระธรรมวินัยนี้ ไม่อาจแสดงธรรมแก่ท่าน
            โดยกว้างขวาง เราจักกล่าวความแก่ท่านโดยย่อพอรู้ความ

ท่านผู้เจริญ ช่างเถิด ท่านจะกล่าวน้อยก็ตาม มากก็ตาม กล่าวแต่ความเถิด เราต้องการด้วยความ ท่านจะกล่าวให้มากเพื่อประโยชน์อะไร?”
          พระอัสสชิ ก็แสดงธรรมแก่ อุปติสสะ พอเป็นใจความว่า
          ธรรมใดเกิดแต่เหตุ พระศาสดาทรงแสดงเหตุแห่งธรรมนั้น และความดับแห่งธรรมนั้น พระศาสดาทรงสั่งสอนอย่างนี้
          อุปติสสะได้ฟังก็ทราบว่า ในศาสนานี้แสดงว่า
          ธรรมทั้งปวงเกิดแต่เหตุ และจะสงบระงับไปเพราะดับเหตุก่อน พระศาสดาทรงสั่งสอนให้ปฏิบัติเพื่อสงบระงับเหตุแห่งธรรม เป็นเครื่องก่อให้เกิดทุกข์
ได้ดวงตาเห็นธรรมว่า

สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
 สิ่งนั้นทั้งหมดต้องมีความดับเป็นธรรมดา”

          แล้วถามว่า พระศาสดาของเราเสด็จประทับอยู่ ณ ที่ไหน?”
          ผู้มีอายุ เสด็จประทับอยู่ ณ เวฬุวัน
          ท่านผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้าไปก่อนเถิด ข้าพเจ้าจะกลับไปบอกสหายแล้วจะพากันไปเฝ้าพระศาสดา
          ครั้นพระเถระไปแล้ว อุปติสสะ ก็กลับมายังสำนัก สัญชัยปริพาชกผู้อาจารย์เพื่อบอกข่าวได้ไปพบ พระอัสสชิ แก่โกลิตะ ผู้สหาย แล้วแสดงธรรมนั้นให้ฟัง โกลิตะก็ได้ดวงตาเห็นธรรมเหมือน อุปติสสะ สองสหายชวนกันจะไปเฝ้าพระศาสดา จึงพากันไปลา สัญชัยปริพาชกผู้อาจารย์ สัญชัยปริพาชก ห้ามไว้โดยอ้อนวอนให้อยู่เพื่อสั่งสอนศิษย์ช่วยกันเป็นหลายครั้งก็ไม่ฟัง ในที่สุดสัญชัยปริพาชก ถามว่า
          ในโลกนี้คนฉลาดมากหรือคนโง่มาก?”
          สองสหายตอบว่า คนฉลาดมีน้อย คนโง่มีมาก

          สัญชัยปริพาชก จึงกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น คนฉลาดจงไปยังสำนักของพระโคดมเถิด คนโง่จงมายังสำนักของเรา
          ดังนั้น ทั้งสองสหายพร้อมด้วยบริวาร จึงลาอาจารย์สัญชัยปริพาชก ออกจากสำนักมุ่งหน้าไปยังเวฬุวันเพื่อเฝ้าพระพุทธองค์
          ได้ยินว่า ภิกษุที่เป็นบริวาร ได้ฟังธรรมเทศนาแล้วบำเพ็ญเพียรอยู่ได้สำเร็จพระอรหันต์ก่อน อุปติสสะ และโกลิตะ เมื่ออุปติสสะ และโกลิตะ ได้อุปสมบทในพระพุทธศาสนาแล้วได้ชื่อเรียกตามโคตร คือ อุปติสสะ ได้ชื่อว่า สารีบุตร และโกลิตะได้ชื่อว่า โมคคัลลานะ
          หลังจากอุปสมบทมาแล้วได้ ๗ วัน พระโมคคัลลานะ   จึงได้บรรลุอรหัตตผล ณ บ้านกัลลวาลมุตตคาม แคว้นมคธ และอีก ๗ วัน ต่อมา พระสารีบุตร จึงได้บรรลุอรหัตตผล ในยามเช้าแห่งวันมาฆบูรณมีดิถี พระจันทร์เพ็ญเสวยมาฆฤกษ์ ณ ถ้ำสุกรขาตา  ภูเขาคิชฌกูฏ แขวงเมืองราชคฤห์
          เมื่อ พระสารีบุตร และ พระโมคคัลลานะได้บรรลุอริยผลเบื้องสูงแล้ว ก็ได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ให้เป็นอัครสาวกขวาซ้าย คือ   พระสารีบุตร เป็นอัครสาวกเบื้องขวา และ พระโมคคัลลานะ ได้เป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้าย     สมดั่งพระวาจาที่ทรงยกพระหัตถ์ตรัสบอกภิกษุทั้งหลายในวันแรกที่พาบริวารเข้าเฝ้าและสมดั่งปณิธานของพระเถรเจ้าอัครสาวกทั้งสองได้ตั้งไว้แต่อดีตชาติ

         ปีกุน        
พระปางโปรดพญาชมพูบดี

ลักษณะพระพุทธรูป

พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาคว่ำบนพระชานุ แบบมารวิชัย ต่างแต่ทรงเครื่องต้นอย่างพระมหากษัตริย์ไทย คือ ฉลองพระองค์และสวมมงกุฎด้วยเครื่องขัตติยราชเรียกกันว่า พระทรงเครื่อง

ประวัติความเป็นมา

มีกษัตริย์พระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระเจ้าชมพูบดี มีพระมเหสีทรงพระนามว่า พระนางกาญจนาเทวี ครองเมืองปัญจาลนคร เป็นกษัตริย์ที่มีบุญญาธิการมาก ด้วยมีอาวุธพิเศษเป็นอำนาจเหนือกษัตริย์น้อยใหญ่ทั้งหลายถึง ๓ อย่าง คือ ศรวิเศษ เรียกว่า วิษสร ฉลองพระบาทแก้ว และจักรแก้ว มีกษัตริย์ในนครต่างๆ ยอมถวาย ดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง เป็นเมืองขึ้นมาก ยังไม่มีกษัตริย์พระนครใดใกล้เคียงจะหาญเข้ามาต่อต้านได้ พระองค์มีความปรารถนาความยิ่งใหญ่ ไม่ทรงรู้จักพอเช่นเดียวกับคนสามัญทั่วไป เมื่อเห็นกษัตริย์นครใดมีราชสมบัติมาก มีฤทธิ์มาก ก็ทรงใช้วิษสรไปร้อยพระกรรณเอามาหมอบกราบพระบาทให้เป็นเมืองขึ้นจนสิ้น

วันหนึ่งเป็นวันเพ็ญ พระจันทร์เต็มดวง พญาชมพูบดี ทอดพระเนตรเห็นดวงจันทร์งามสว่างอยู่ท่ามกลางหมู่ดวงดาวในท้องฟ้า ก็ทรงเทียบพระองค์ว่า พระองค์ก็ควรจะมีเดชานุภาพล่วงกษัตริย์ทั้งหมดในชมพูทวีป เหมือนพระจันทร์มีรัศมีล่วงดวงดาวทั้งหลายฉะนั้น ทรงเบิกบานพระทัยด้วยความหวังในพระทัยเป็นอันมาก จึงทรงฉลองพระบาทแก้วเหาะไปในอากาศ ทอดพระเนตรดูหัวเมืองทั้งหลายในชมพูทวีป

           ครั้นเสด็จมาถึงพระนครราชคฤห์ ทรงเห็นยอดปราสาทสูงสล้างงามยิ่งนักก็ทรงจินตนาการว่า ปราสาทของใครหนองามยิ่งกว่าปราสาทของเรา ก็ทรงพระพิโรธด้วยความริษยา จึงได้เสด็จลงมา ยกพระบาทขึ้นกระทืบเพื่อจะให้หักทลายลง แต่ด้วยอานุภาพของพระพุทธานุภาพคุ้มครองรักษา ในฐานะพระเจ้าพิมพิสารเป็นพระอริยสาวกถึงพระรัตนตรัยอย่างใกล้ชิด ยอดปราสาทของพระองค์ก็ไม่กระเทือน ดูประหนึ่งว่าเหล็กกล้า สามารถต่อต้านการกระทบรุนแรงได้ทุกประการ แม้พญาชมพูบดีจะทรงกระทืบเท่าใดยอดปราสาทก็มิได้หวั่นไหวและในขณะเดียวกัน พระบาทของ พญาชมพูบดีกลับแตก พระโลหิตไหลออกโทรมพระบาททำให้ได้รับทุกขเวทนายิ่งนัก จึงทรงพิโรธหนักขึ้น ชักพระแสงขรรค์ออกฟันจนสุดพระกำลัง ยอดปราสาทก็หาหวั่นไหวแต่ประการใดไม่แต่พระขรรค์กลับบิดงอ พญาชมพูบดีทรงเสียพระทัยและกลับทวีความโกรธขึ้นเป็นอันมาก รีบเสด็จกลับโดยทรงดำริจะใช้วิษสรมาร้อยพระกรรณเจ้าของปราสาทนี้ไป  ครั้นเสด็จมาถึงพระนครแล้ว  ก็ทรงใช้ วิษสรให้ไปเอากษัตริย์ในนครราชคฤห์มาโดยเร็ว

วิษสรจากแล่งแล่นออกไปโดยเร็ว ส่งเสียงร้องกัมปนาทเป็นที่หวั่นหวาดของคนและสัตว์ที่ได้ยินทั่วไป พระเจ้าพิมพิสารได้สดับเสียงก็สะดุ้งพระทัยแล้วรีบเสด็จออกจากปราสาท เสด็จไปเฝ้าพระพุทธองค์ที่พระเวฬุวันมหาวิหารแต่เช้าตรู่เพื่อขอประทานความคุ้มครอง
เมื่อวิษสรมาถึงปราสาทแห่งราชคฤห์มหานครแล้ว ก็ตรงเข้าค้นหาพระเจ้าพิมพิสาร ครั้นไม่พบก็ทำลายราชบัลลังก์เสียย่อยยับ ทำลายฉัตร กระจัดกระจาย แล้วแล่นออกจากปราสาทติดตามพระเจ้าพิมพิสารไปยังพระเวฬุวันมหาวิหาร แผดเสียงสะเทือนสะท้านน่าสะพรึงกลัวอย่างยิ่งพระพุทธองค์ทรงเห็นนาคราชของ พญาชมพูบดี ติดตามมารุกรานถึงพระเวฬุวันเช่นนั้น ก็ทรงเนรมิตพญาครุฑให้โฉบบินออกไปขับไล่ให้กลับไปอย่างนั้น แล้วจึงทรงพิจารณาดูอุปนิสัยของพญาชมพูบดี ทรงเห็นว่าท้าวเธอมีอุปนิสัยสูง ควรบรรลุพระอริยผลชั้นสูงได้ จึงตรัสเรียก ท้าวสักกเทวราชให้ลงมาเฝ้า แล้วทรงแจ้งพระประสงค์ที่จะทรมานพญาชมพูบดี โดยพระพุทธองค์จะเนรมิตพระองค์เองเป็น พระเจ้าราชาธิราช ให้พระสงฆ์เป็นเสวกามาตย์ราชบริพาร ให้พระเวฬุวันมหาวิหารกลายเป็นพระราชนิเวศน์สถานไปชั่วขณะหนึ่ง ขอให้ท้าวสักกเทวราชเป็นราชทูต ไปเอาตัว พญาชมพูบดีมาเฝ้ายังพระเวฬุวันมหาวิหาร
ครั้นท้าวสักกเทวราชทราบพระพุทธประสงค์แล้ว ก็จำแลงเพศเป็นราชทูตที่สง่างามด้วยอาภรณ์งามวิจิตร สูงค่ามากยิ่งกว่าเครื่องอาภรณ์ของ พญาชมพูบดี แล้วเข้าไปยืนปรากฏกายที่ปราสาทเบื้องพระพักตร์ พญาชมพูบดี ในท่ามกลางอำมาตย์ราชบริพารที่เฝ้าแหนกันอยู่พร้อมพรั่ง แล้วทรงเปล่งสุรเสียงร้องทูลว่า

ดูกร พญาชมพูบดี บัดนี้ พระเจ้าราชาธิราช เจ้านายของข้าพเจ้าก็มีบัญชาให้ข้าพเจ้าเชิญตัวท่านไปในวันนี้
พญาชมพูบดี ทรงพิโรธด้วยเห็นราชทูตเจรจาไม่เคารพ ก็ร้องตวาดแล้วทรงขว้างจักรแก้วให้ไปประหารชีวิตทันที
 
เมื่อท้าวสักกะ เห็นจักรแก้วของ พญาชมพูบดี ส่งเสียงทำอำนาจดังลั่นมาเช่นนั้น ก็ทรงขว้างจักรของพระองค์ออกไปกำจัด จักรของพระอินทร์ได้แล่นออกไปทำลายจักรของพญาชมพูบดีให้พ่ายแล้ว และกระชากพระบาท พญาชมพูบดีให้ตกจากพระแท่นที่ประทับและลากไปตามพื้นถึง ๑๒ วา ทั้งกลับกลายเป็นเปลวไฟเผาปราสาทลุกลามทั่วไปในพระราชนิเวศน์

บรรดาเสวกามาตย์ราชบริพารพากันตกตะลึง ด้วยกลัวไฟวิ่งวุ่นกระจัดกระจาย แม้พญาชมพูบดี ก็ยอมแพ้แก่ราชทูต รับจะทำตามประสงค์ทุกประการ ต่อจากนั้นพระอินทร์ก็เรียกจักรของพระองค์กลับคืน
ทันใดนั้น เปลวเพลิงที่ลุกไหม้ปราสาทก็ดับลงทันที ไม่มีสิ่งใดเสียหายทุกสิ่งทุกอย่างตั้งอยู่เป็นปกติ พญาชมพูบดีขอผัดสักหนึ่งเดือน

ก่อนจึงจะไป ท้าวสักกะไม่ยินยอม เพียงแต่ผ่อนให้เตรียมตัวได้ ๓ วัน และก่อนจากไปทรงสำทับว่า ถ้าพญาชมพูบดีไม่ไป เกิดบิดพลิ้วซึ่งต้องให้มาตามแล้วละก็ จะเผาเมืองเสียให้ราบเป็นหน้ากลอง แล้วเสด็จกลับไปกราบบังคมทูลพระพุทธองค์ให้ทรงทราบ

พระพุทธองค์ได้ทรงเนรมิตพระวิหารเวฬุวันเป็นพระราชนิเวศน์พร้อมด้วยปราสาทกำแพงแก้ว ๗ ชั้น วิจิตรพิสดารเพียบพร้อมด้วยตลาดบก ตลาดน้ำงดงามไม่มีนครใดเสมอ เพื่อต้อนรับ พญาชมพู ผู้มัวเมาในราชสมบัติ กับทรงให้พระอัครสาวกและพระมหาสาวกเนรมิตกายเป็นเสนาบดีผู้ใหญ่ เข้าเฝ้าประจำตำแหน่ง และให้พญากาฬนาคราช และนางวิมาลามเหสี มาจัดตลาดน้ำให้ ท้าวสักกะ พร้อมด้วย  นางสุธรรมา นางสุจิตรา นางสุนันทา นางสุชาดา และพญาครุฑ มาจัดตลาดเพชรนิลจินดา ตลาดทอง ตลาดเงิน ตลาดผ้าสรรพาภรณ์ ตลาดอาหาร ตลาดลูกไม้ ตลาดดอกไม้  นานาประการงดงามเป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นที่เจริญใจของทุกคนที่ได้เห็น หาสถานที่ใดงามเสมอมิได้

ครั้นถึงวันกำหนดนัดหมาย พญาชมพูบดี ก็เสด็จขึ้นช้างพระที่นั่งพร้อมด้วยจตุรงคเสนายกพลมาโดยลำดับ ด้วยตั้งพระทัยว่า ถ้าเห็นว่ามีกำลังพอจะบีบบังคับ พระเจ้าราชาธิราชได้ ก็จะจัดการเอาเป็นเมืองขึ้นทันที
ครั้งนั้น พระพุทธองค์ทรงให้สามเณรมาฆา ไปย่นทางเดินอันมีระยะทางยาวถึง ๖๐ โยชน์ที่ พญาชมพูบดี เสด็จมาให้สั้นเข้า เพื่อให้ถึงเวลาเช้า
มาฆาสามเณรรับพระพุทธบัญชาแล้วก็ออกไปนอกพระวิหาร ย่นมรรคาให้พญาชมพูบดี พร้อมด้วยพระยาหนึ่งร้อยหนึ่งองค์ กับจตุรงคเสนาเดินมาถึงชานพระนครเนรมิตแต่เช้า

ครั้นแล้วก็แปลงเพศเป็นราชทูตเข้าไปหา พญาชมพูบดี ร้องอัญเชิญว่า บัดนี้ พระองค์เสด็จมาถึงพระนครแล้ว ควรจะเสด็จลงจากคอช้างพระที่นั่ง แล้วเสด็จดำเนินเข้าไปพระนครด้วยพระบาทเถิด”
เมื่อ พญาชมพูบดี ขัดขืนก็แสดงอานุภาพฉุดช้างพระที่นั่งให้ล้มลง พญาชมพูบดี เกรงเดชานุภาพ ก็จำใจปฏิบัติตามโดยเสด็จตาม มาฆาสามเณรเข้าพระนคร ขณะที่เสด็จเข้าพระนครนั้นก็เสด็จผ่านเมืองเนรมิตที่งดงามนั้น และชมเมืองนั้นเป็นที่เพลิดเพลิน สามเณรมาฆาต้องเตือนให้เสด็จ จนเข้าไปถึงที่ประทับของ พระพุทธองค์ ซึ่งทรงเนรมิตรูปพระโฉมงามดุจท้าวมหาพรหมประกอบด้วยพระรัศมี ๖ ประการ ประทับอยู่บนรัตนบัลลังก์ ในท่ามกลางมุขอำมาตย์ราชเสนาบดี พร้อมพหลโยธีเฝ้าอยู่ในหน้าที่ มือถือศาสตราวุธอยู่พร้อมสรรพ พญาชมพูบดี ก็เกรงกลัวแทบว่าชีวิตจะออกจากร่าง จึงทรุดพระองค์ลงนั่ง แม้อย่างนั้นแล้วก็ไม่ยอมถวายบังคมด้วยอำนาจมานะทิฏฐิอันแรงกล้า

พระพุทธองค์ทรงให้โอกาสท้าวเธอแสดงฤทธิ์เดชบรรดามี พญาชมพูบดีก็แสดงจักรแก้ววิษสร และฉลองพระบาทแก้วอันเป็นอาวุธวิเศษคู่พระกร ออกประทุษร้ายพระผู้มีพระภาคเป็นวาระสุดท้าย โดยหวังจะได้ชัยชนะ
พระพุทธเจ้าทรงเนรมิตจักรเพชรทำลายล้างอาวุธวิเศษให้ปราชัย ให้พญาชมพูบดี สลดใจยอมเกรงพระบารมี ต่อจากนั้นก็ตรัสพระธรรมเทศนาชำระอกุศลจิตของพญาชมพูบดี ให้ผ่องใสด้วยอนุปุพพิกถา ให้พญาชมพูบดี มีจิตศรัทธาในการกุศลถึงกับยอมมอบกายถวายชีวิตของตนในพระศาสนา โดยขอบรรพชาอุปสมบท
พระพุทธองค์จึงคลายอิทธาภิสังขาร บันดาลพระนครเนรมิตให้กลับคืนเป็นพระเวฬุวันมหาวิหารเหมือนเดิม พระองค์กลายจากเพศพระเจ้าราชาธิราชเป็นพระพุทธเจ้า บรรดาเหล่าอำมาตย์ราชเสนาบดีก็กลายเพศเป็นพระสงฆ์สาวกแวดล้อมพระพุทธองค์ เหล่าเทพเจ้าตลอดครุฑนาคก็พากันกลับคืนทิพยสถาน
ต่อจากนั้น  พญาชมพูบดีขอบวช พระพุทธองค์ก็ทรงประทาน เอหิภิกขุอุปสัมปทาให้  พญาชมพูบดีอุปสมบทเป็นภิกขุ ทรงจตุปาริสุทธิศีลให้พระพุทธศาสนา
พระพุทธจริยาตอนทรงเนรมิตเป็นพระเจ้าราชาธิราชนั่นเองเป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูปที่เรียกว่า " ปางโปรดพญาชมพูบดี "