พระประจำวันเกิด,ประวัติ,บทสวดบูชา



ประวัติพระประจำวันเกิดและบทสวด

คนส่วนมากมุ่งทำเงิน ทำงาน จนลืมการ “ทำใจ” ในเมื่อมีอารมณ์ที่ชอบหรือชังมากระทบเข้า ใจจึงไหวหวั่นสั่นสะเทือนล่องลอยไปตามอารมณ์นั้นๆ อย่างลืมตัว      ยามโชคดีมีสุขก็ปล่อยใจให้ปลื้มจนลืมเป็นลืมตาย ยามเคราะห์ร้ายได้ทุกข์ก็ปล่อยให้ความโศกเศร้าเผาลน    และกดดันจิตใจจนต้องคิดฆ่าตัวตาย การที่ชีวิตคนต้องเป็นเช่นนี้ทั้งในอดีต ปัจจุบัน หรือในกาลอื่นๆก็เพราะคนขาดการ “ทำใจ” ใจจึงไม่ไวพอที่จะรู้เท่า รู้ทันกับเหตุการณ์ที่มากระทบ   ต่อเมื่อได้ฝึก “ทำใจ” เอาไว้บ้าง “ใจ” ดวงน้อยๆในตัวนี้แหละค่อยๆพัฒนาจนกลายเป็นใจที่มีคุณภาพ ซึ่งจะมีลักษณะที่ปรากฏให้เห็น ๓ ประการ คือ

๑. หนักแน่น เข้มแข็ง มั่นคง (สมาหิโต)
๒. สะอาดบริสุทธิ์ (ปริสุทฺโธ)
๓. ไวต่องาน หรือ ต่ออารมณ์ที่มากระทบ (กมฺมนีโย)

หากท่านผู้ใดทำใจให้มีคุณลักษณะทั้ง ๓ ประการ ดังกล่าวมาแล้วนั้น ท่านผู้นั้นก็เหมือนมีแก้วสารพัดนึกอยู่ในตัว เพราะ “ใจ” ที่มีคุณลักษณะเช่นนั้น ซึ่งหาได้ยากแสนยากในคนทั่วไป ย่อมเป็นใจที่มี “ฤทธิ์” พร้อมที่จะนำชีวิตก้าวขึ้นสู่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ได้เกือบทุกทาง โปรดอย่าลืมว่า

“จิตฺเตน นียติ โลโก”
โลกคือชีวิตอันจิตเป็นตัวกำหนดและเป็นตัวนำไป
 
“อดีต คือความฝัน, ปัจจุบัน คือ ความจริง, อนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน อย่าจับให้มั่น อย่าคั้นให้ตาย ถ้าผิดหวังจะเสียใจ”

..........................................................................................


สำหรับผู้เกิดวันอาทิตย์ 
(พระปางถวายเนตร)


      
ประวัติย่อ เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้แล้ว จึงประทับยับยั้งเสวยวิมุตติสุขอยู่ใต้ร่มโพธิ์ เป็นเวลา ๗ วัน จากนั้นจึงเสด็จออกจากภายใต้ต้นโพธิ์ ไปประทับยืนอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน) ทอดพระเนตรต้นมหาโพธิ์โดยไม่กระพริบพระเนตร เป็นเวลา ๗ วัน เพื่อรำพึงถึงคุณประโยชน์ของต้นมหาโพธิ์ที่แผ่กิ่งก้านประทานร่มเงาให้ความชุ่มเย็น เป็นการอำนวยให้พระองค์จนได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

บทสวดบูชาพระประจำวันอาทิตย์

ให้ตั้งนะโม ๓ จบก่อน แล้วกล่าวพระคาถาว่า
อะวิชสุนุตสานุสติอะ

 สวดวันละ ๖ จบ จะมีความเจริญรุ่งเรืองและความสุขสวัสดีตลอดกาล


สำหรับผู้ที่เกิดวันจันทร์
(พระปางห้ามสมุทร)


ประวัติย่อ พระพุทธองค์เสด็จเข้าไปที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ประทับอาศัยอยู่ในสำนักของอุรุเวลกัสสปะ ซึ่งเป็นหัวหน้าชฎิล ๕๐๐ และเป็นที่นับถือเลื่อมใสของมหาชนในแคว้นมคธ
ทรงทำปาฏิหาริย์นานัปการเพื่อคลายพยศของหัวหน้าชฎิล เริ่มตั้งแต่ทรมานพญานาคในโรงไฟ อันเป็นที่นับถือของเหล่าชฎิลให้สิ้นฤทธิ์ ทรงทรมานอุรุเวลกัสสปะด้วยวิธีต่างๆ จนเหล่าชฎิลเกิดความเคารพนับถือในอานุภาพของพระองค์
และในที่สุด ทรงทำปาฏิหาริย์ห้ามน้ำซึ่งไหลบ่ามาจากทิศต่างๆ ที่ท่วมสำนักท่านอุรุเวลกัสสปะ มิให้เข้ามาในที่พระประทับ พระองค์เสด็จจงกรมภายในวงล้อมของน้ำที่ท่วมเป็นกำแพงรอบด้านนั้น
เหล่าชฎิลต่างพายเรือมาดูเห็นเป็นอัศจรรย์นักก็พากันสิ้นพยศ ยอมเป็นศิษย์ตั้งอยู่ในพระพุทธโอวาท ถึงกับลอยเครื่องบริขารของชฎิลลงทิ้งเสียในแม่น้ำแล้วขออุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา โดยพระพุทธองค์ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้
 
พระพุทธจริยาที่ทรงทำปาฏิหาริย์ห้ามน้ำในครั้งนี้ ได้เป็นที่เลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนที่เกิดความนิยมเลื่อมใสในอิทธิปาฏิหาริย์ของพระพุทธเจ้า จึงเป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูป ที่เรียกว่า
ปางห้ามสมุทร
บทสวดบูชาพระประจำวันจันทร์
ให้ตั้งนะโม ๓ จบก่อน แล้วกล่าวพระคาถาว่า
อิระชาคะตะระสาอิ
สวดวันละ ๑๕ จบ จะมีความสุขความเจริญยิ่งๆขึ้นไป



สำหรับผู้ที่เกิดวันอังคาร
(พระปางไสยาสน์หรือปางโปรดอสุรินทราหู)


ประวัติย่อ สมัยหนึ่งพระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ    พระเชตวันมหาวิหาร ในนครสาวัตถี  ครั้งนั้นอสุรินทราหู จอมอสูรซึ่งสำคัญว่ามีร่างใหญ่โตกว่าพระพุทธเจ้า จึงไม่ยอมแสดงความอ่อนน้อม พระพุทธเจ้าทรงหวังจะลดทิฐิจอมอสูร จึงทรงเนรมิตกายให้โตกว่าจอมอสูรในท่าประทับนอน และแสดงธรรมโปรดจนในที่สุดจอมอสูรจึงละทิฐิ ยอมอ่อนน้อมต่อพระพุทธองค์
บทสวดบูชาพระประจำวันอังคาร
ให้ตั้งนะโม ๓ จบก่อน แล้วกล่าวพระคาถาว่า
ติหังจะโตโรถินังติ
สวดวันละ ๘ จบ จะมีความสุขสวัสดีตลอดกาลนาน



สำหรับผู้ที่เกิดวันพุธกลางวัน
(พระปางอุ้มบาตร)


ประวัติย่อ ครั้งหนึ่ง หลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมเวสสันดรชาดกโปรดพระพุทธบิดาและหมู่พระญาติทั้งหลาย บรรดาพระประยูรญาติต่างมีความแช่มชื่นโสมนัสจนลืมกราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์ให้มารับภัตตาหารเช้าในพระราชวัง ดังนั้น วันรุ่งขึ้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเสด็จออกรับบิณฑบาตจากประชาชนทั่วไปในกรุงกบิลพัสดุ์


บทสวดบูชาพระประจำวันพุธกลางวัน

ให้ตั้งนะโม ๓ จบก่อน แล้วกล่าวพระคาถาว่า
ปิสัมระโลปุสัตพุทปิ
สวดวันละ ๑๗ จบ จะมีความสุขสวัสดียิ่งๆขึ้นไป






สำหรับผู้ที่เกิดวันราหูเสวยอายุ


(วันพุธกลางคืน)
(พระปางปาริไลยก์)

ประวัติย่อ พระพุทธองค์เสด็จประทับอยู่ที่เมืองโกสัมพี ในเวลานั้น พระภิกษุหลายรูปมีความขัดแย้งไม่สามัคคีกัน ทรงตักเตือนก็มิได้เชื่อฟัง พระพุทธองค์จึงเสด็จจาริกลำพังพระองค์เดียว ในที่สุดได้เสด็จไปพำนักอยู่ ณ โคนไม้สาละอันร่มรื่น ในป่า ปาริเลยยกะ(ภาษาไทยเรียก ปาเลไลยก์ หรือป่าเลไลยก์ก็มี ควรเขียน ปาริไลยก์ หรือ ปาเรไลยก์) มีพญาช้างชื่อปาริเลยยกะ มาอุปัฏฐากดูแลพระผู้มีพระภาคเจ้า วันหนึ่งมีพญาลิงผ่านมา เห็นพญาช้างทำวัตรปฏิบัติถวายกระบอกน้ำแด่พระพุทธองค์ จึงเกิดกุศลจิตนำรวงผึ้งมาถวายด้วย
บทสวดบูชาพระประจำวันราหู(วันพุธกลางคืน)

ให้ตั้งนะโม ๓ จบก่อน แล้วกล่าวพระคาถาว่า
คะพุธปันทูทัมวะคะคะ
สวดวันละ ๑๒ จบ จะมีความเจริญสุขสวัสดีฯ





สำหรับผู้ที่เกิดวันพฤหัสบดี
(พระปางสมาธิ)


ประวัติย่อ ภายหลังที่พระมหาบุรุษได้กำราบพระยามารลงได้แล้ว พระองค์จึงได้ตั้งพระทัยเจริญสมาธิจนได้บรรลุญาณขั้นต่างๆ และในที่สุดก็ได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเวลาเช้าตรู่ของวันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ (วันวิสาขบูชา)

บทสวดบูชาพระประจำวันพฤหัสบดี
ให้ตั้งนะโม ๓ จบก่อน แล้วกล่าวพระคาถาว่า
ภะสัมสัมวิสะเทภะภะ
สวดวันละ ๑๙ จบ จะมีความสุขความเจริญรุ่งเรืองยิ่งๆขึ้นไป


สำหรับผู้ที่เกิดวันศุกร์
(พระปางรำพึง)


ประวัติย่อ ภายหลังจากที่ตรัสรู้ได้ไม่นาน พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งประทับอยู่ภายใต้ต้นไทร(อชปาลนิโครธ) ก็ได้ทรงรำพึงถึงธรรมที่ได้ตรัสรู้นั้นว่า เป็นธรรมที่ละเอียดลึกซึ้งยากแก่การเข้าใจ จึงทรงรู้สึกอ่อนพระทัยในการที่จะนำออกแสดงโปรดสัตว์ แต่เพราะพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ซึ่งได้พิจารณาเห็นว่า สรรพสัตว์มีภูมิต่างกัน จึงทรงพระดำริที่จะแสดงธรรมตามภูมิชั้นแห่งปัญญาสรรพสัตว์นั้นๆ

บทสวดบูชาพระประจำวันศุกร์
ให้ตั้งนะโม ๓ จบก่อน แล้วกล่าวพระคาถาว่า
วาโธโนอะมะมะวาวา
สวดวันละ ๒๑ จบ จะมีความสุขสวัสดีตลอดกาลนานฯ







สำหรับผู้ที่เกิดวันเสาร์
(พระปางนาคปรก)


ประวัติย่อ ครั้งเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับเสวยวิมุตติสุขอยู่ใต้ต้นจิก(มุจจลินท์) บังเอิญในช่วงนั้นมีฝนตกหนักตลอด ๗ วัน พญานาคมุจจลินท์ได้เลื้อยมาทำขนดล้อมพระวรกายของพระพุทธองค์ ๗ ชั้น แล้วแผ่พังพานปกไว้ในเบื้องบนเหมือนกั้นฉัตร ด้วยประสงค์จะกำบังลมฝนมิให้ต้องพระวรกาย
บทสวดบูชาพระประจำวันเสาร์
ให้ตั้งนะโม ๓ จบก่อน แล้วกล่าวพระคาถาว่า
โสมาณะกะริถาโธโส
สวดวันละ ๑๐ จบ จะมีความสุขความเจริญ และเกิดความสวัสดีมีมงคลตลอดกาลนาน



พระพุทธชินราช
(ปางเรือนแก้ว)


ประวัติย่อ เมื่อตรัสรู้แล้ว ในสัปดาห์ที่ ๔ พระพุทธเจ้าก็เสด็จจากรัตนจงกรมเจดีย์ไปทางทิศพายัพ(ตะวันตกเฉียงเหนือ)แห่งต้นพระศรีมหาโพธิ์ ประทับนั่งขัดสมาธิในเรือนแก้ว ซึ่งเทวดานิรมิตขึ้นถวาย ทรงพิจารณาพระอภิธรรมปิฎก ๗ วัน สถานที่ประดิษฐานเรือนแก้วเป็นนิมิตมหามงคล เรียกว่า “รัตนฆรเจดีย์



บทสวดบูชาพระพุทธชินราช
ให้ตั้งนะโม ๓ จบก่อน แล้วกล่าวพระคาถาว่า

อิเมหิ นานาสักกาเรหิ อภิปูชิเตหิ  ทีฆายุโก โหมิ อะโรโค สุขิโต สิทธิกิจจัง สิทธกัมมัง ปิยังมะมะ ปะสิทธิลาโภ ชะโย โหตุ สัพพะทา พุทธะชินะราชา อะภิปาเรตุ มัง นะโมพุทธายะ



 

วันเกตุเสวยอายุ
(ปางสมาธิเพชร)
      
ประวัติย่อ พระพุทธรูปปางนี้ ไม่ปรากฏเป็นตำนาน แต่มีที่มาที่ทราบกันเพียงว่า เป็นปางประทับนั่งพักในเวลากลางวัน หรือตามปกติพระพุทธองค์เสด็จออกไปโปรดสัตว์ในยามเช้า ช่วงเวลาที่เสวยแล้วทรงพักกลางวันทรงอิริยาบถนั่ง คือ นั่งสมาธิ” 
ปางนี้ในสมัยก่อน ไม่เป็นที่นิยมกันนัก เป็นที่สนใจน้อยและหายาก จะมีบ้างก็เป็นพระขนาดเล็ก  รัชกาลที่ ๔ ทรงสร้างขึ้นเมื่อปลายรัชกาล เรียกว่า พระนิรันตราย แต่เป็นพระขนาดเล็กแบบพระบูชามีคนศรัทธาสร้างตามเสด็จน้อย ไม่เหมือนพระปางทรงเครื่อง ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๓ ทรงนำสร้าง และปรากฏว่ามีคนศรัทธาสร้างตามมากมาย แม้เมื่อในปลายรัชกาลที่ ๖ ทรงสร้าง พระนิโรคันตราย เป็นพระบูชาอย่างพระนิรันตราย ในรัชกาลที่ ๔ ก็ไม่โปรดแบบสมาธิเพชร โปรดแบบสมาธิธรรมดา