วิธีอ่าน บทกลอนให้ได้อรรถรส



       วิธีอ่าน               หนังสือนี้                  มีคุณค่า
อ่านตัวหนา                ลงมาก่อน                 สอนตามขั้น
เป็นหนังสือ                ธรรมดา                    เคยอ่านกัน
ความหมายนั้น            ก็รู้ความ                    ตามเป็นจริง

       แต่ถ้าอ่าน           ซ้ายไปขวา                ก็พาสอน
เป็นบทกลอน             ขยายความ                ได้ดียิ่ง
รู้ความเพิ่ม                 เสริมออกไป               ให้รู้จริง
ได้รู้สิ่ง                       ที่ควรรู้                       อยู่ครบครัน

      ท้ายกระดาษ         ล่างสุด                     นั้นดีนะ
มีพุทธะ                      สุภาษิต                     คิดสร้างสรรค์
ล้วนแต่มี                    เนื้อความ                   ตามจำนรรจ์
สัมพันธ์กัน                 กับเนื้อหา                   พากมล

     ส่วนรูปภาพ           ด้านซ้าย                    คลายวิถี
ดูแล้วมี                      คุณค่า                        น่าฉงน
ปริศนาธรรม               ซ่อนอยู่                       รู้อดทน
ตามเหตุผล                ค้นดู                          "จะรู้จริง"

ปญฺญว ธเนน เสยฺโย ปัญญาเทียวประเสริฐกว่าทรัพย์


* หมายเหตุ ในหนังสือให้อ่าน " ตัวหนา ลงมาก่อน "
* สำหรับ     ในเว็บให้อ่าน " ตัว สีเหลือง , สีม่วง  ลงมาก่อน " 
ก็จะได้อรรถรสในอีกรูปแบบหนึ่ง
                                             

มงคลที่ ๑

๑. ไม่คบคนพาล ( อเสวนา จ พาลานํ)


หนึ่ง. ไม่คบ คนพาล ประสานจิต
๑. ชอบคิดผิด มโนกรรม สามสถาน
๒. ชอบพูดชั่ว มั่วคำหยาบ ตราบเนิ่นนาน
๓. ชอบทำงาน ชั่วยิ่ง สิ่งไม่ดี

๔. ชอบชักนำ ในทางผิด คิดทุกสิ่ง
๕. ทำมากยิ่ง สิ่งไม่ควร ล้วนบัดสี
๖. ไม่ยอมรับ ระเบียบ วินัย ใส่ชีวี
๗. แม้พูดดี ก็โกรธ โทษต่อเติม

อย่าคบ...ค้า คนพาล ประสานศรี
อย่าร่วม...มี การงาน ประสานเสริม
อย่ารับ...ไว้ ให้ร่วมสุข ทุกข์ต่อเติม
อย่าให้...เพิ่ม ความวางใจ ใคร่ครวญตรอง

เหมือนต้นไม้ ใกล้กัน พลันเปลี่ยนผัน
มะม่วงมัน เปรี้ยวไป ให้หม่นหมอง
ใบไม้ห่อ ปลาเน่าเหม็น เป็นทำนอง
ลองไตร่ตรอง มองให้เห็น เช่นคนพาล.

มงคลที่ ๒

๒. คบบัณฑิต ( ปณฺฑิตานญฺ จ เสวนา.)


สอง. คบหา   บัณฑิต   คิดให้ทั่ว
รู้ดี ชั่ว   ทั่วไป   หลายสถาน
รู้ถูก ผิด   คิดทุกอย่าง   วางโครงการ
รู้ชอบ...งาน   บาป บุญ   หนุนกมล

๑. รู้อุปการ-   คุณท่าน   หมั่นยึดไว้
๒. รู้ทำให้   คนพ้นบาป   ทราบฝึกตน
๓. รู้ช่วยเหลือ   ผู้อื่น   ชื่นกมล
๔. รู้ชุมชน   สงเคราะห์ให้  ได้สุขจริง

นรชน   พึงคบหา   บัณฑิตไว้
ปัญญาไว  ได้พ้นทุกข์   สุขทุกสิ่ง
พหูสูต   พูดคิดทำ   จำได้จริง
ไกลจากสิ่ง   เศร้าหมอง   ครองอุรา

เหมือนผ้าห่อ   ของหอมไว้   ได้ครันครบ
หอมตลบ   อบอวล   ชวนใฝ่หา
ผู้ใดคบ   บัณฑิต   บัณฑิตพา
ผลดีมา   ตอบสนอง   ห้องหทัย.

มงคลที่ ๓

๓. บูชาคนที่ควรบูชา (ปูชา จ ปูชะนียานํ.)


สาม...บูชา คนที่ควร บูชา...ยิ่ง
ยกย่อง...จริง จอมกษัตริย์ จัดเอาไว้
เชิดชู...ญาติ บิดา มารดา อาจารย์ไกล
รู้เลื่อมใส พุทธองค์ สงฆ์ทำดี

ด้วยทางใจ วาจา กาย หมายเกรงขาม
ประพฤติตาม แนวทาง สร้างวิถี
คำสอน...ท่าน หมั่นศึกษา หาวิธี
ตราบชีวี สิ้นไป ใจสุขจริง

รวมทั้งสิ่ง เนื่องด้วย ช่วยประสงค์
พระพุทธองค์ สงฆ์ที่ดี มีมากยิ่ง
บิดา มารดา อาจารย์ ครู รู้คุณจริง
กษัตริย์...มิ่ง บูชา พากมล

(ที.มหา. ๑๐/๑๓๔/๑๖๕)

ต้นไม้เล็ก ต้องมีหลัก ปักค้ำไว้
เพื่อเติบใหญ่ ในวันหน้า คอยท่าฝน
ผู้ใดหวัง ความเจริญ เชิญฝึกตน
บูชาคน ควรบูชา หาก้าวไกล.

มงคลที่ ๔

๔. อยู่ในถิ่นที่เหมาะสม (ปฏิรูปเทสวาโส จ.)

สี่...อยู่ในถิ่น ที่เหมาะสม ระดมพร้อม
สิ่งแวดล้อม ที่ดี มีอาศัย
มีสัมมา อาชีพ เจริญไว
ไม่มีภัย ไรพิษ มิตรอาทร

๑. มีธรรมะ สบายครบ สงบเย็น
๒. บุคคลเป็น ที่สบาย หมายสั่งสอน
๓. มีอาหาร มากมาย คลายอาทร
๔. สุดอาวรณ์ อาวาสดี มีครบครัน

ทั้งทางโลก โชคอำนวย ช่วยเลิศล้ำ
ทั้งทางธรรม นำศีล ทาน ประสานมั่น
ทั้งเด็กอยู่ รู้ภาวนา พาจิตพลัน
ทั้งสร้างสรรค์ เมื่อเติบใหญ่ ให้ได้ดี

หากคนเรา อยู่ไกล ในถิ่นเลว
คงล้มเหลว ทุกสิ่ง สิ้นราศี
หากอยู่ถิ่น ที่เหมาะสม อุดมดี
ก็ย่อมมี ความเจริญ เพลินหทัย.

มงคลที่ ๕

๕. มีบุญวาสนามาก่อน. (ปุพฺเพ จ กตปุญฺญตา)



ห้า...มีบุญ วาสนา มาก่อน

ได้ตามย้อย คืนมา พาสดใส

ตั้งแต่คลอด จากครรภ์ พลันมั่นใจ

ก้าวหน้าไป ในปัจจุบัน มั่นคงดี


๑. สุขภาพจิต สะอาดใส ไร้ใดทาบ

๒. บุคลิกภาพ สง่างาม ตามวิถี

๓. ทางชีวิต ประสิทธ์ผล พ้นราคี

๔. สังคมดี เจริญไกล ให้ฝึกตน


บุญวาสนา หาใช่ อภินิหาร

เกิดจากการ สร้างความดี พลีจิตค้น

น้ำไหลหยด ทีละน้อย ย้อยปะปน

ยังท่วมท้น มหาสมุทร สุดประมาณ


บัณฑิตหมั่น สั่งสมบุญ หนุนไม่ถอย

ทีละน้อย ค่อยต่อเติม เสริมเป็นฐาน

ย่อมเต็มเปี่ยม ด้วยบุญ หนุนวงศ์วาน

ฉันนั้นการ สั่งสมบุญ คุณอนันต์.

มงคลที่ ๖

๖. ตั้งตนชอบ. (อตฺตสมฺมาปณิธิ จ.)


หก...ตั้งตนชอบ ถูกทาง สร้างเสริมโชค

ทั้งทางโลก สุจริต คิดหมายมั่น

ทั้งทางธรรม ย้ำทาน ศีล สิ้นเวรพลัน

ดำเนินมั่น สู่เป้าหมาย มิคลายคลอน


๑. ฝึกเป็นคน มีศรัทธา หาเหตุผล

๒. เชื่อกรรมตน ทนวิบาก ยากถ่ายถอน

๓. เป็นคนดี มีศีลธรรม ล้ำอาภรณ์

๔. จิตอาวรณ์ สละปัน หมั่นอภัย


เป็นคนดี มีความรู้ พหูสูต

ทั้งฟังพูด คิดจำ นำไปใช้

๕. ฝึกสมาธิ สิจิตมั่น ปัญญาไว

ย่อมมั่นใจ โลภโกรธหลง ปลงจากลา


เป็นคนที่ มีแก่นธรรม นำวิถี

พาชีวี มีพลัง ยั้งปัญหา

สู่เป้าหมาย ชีวิต จิตศรัทธา

ด้วยปัญญา พาไพบูลย์ พูนทวี.

มงคลที่ ๗

มงคลที่ ๗-๑๐  อยู่ในหมู่ที่ ๓ ฝึกตนให้เป็นคนมีประโยชน์

๗. พหูสูต. (พาหุสจฺจญฺ จฺ)


เจ็ด...พหูสูต “ฉลาดรู้” อยู่ทุกสิ่ง

รอบรู้จริง สิ่งควรรู้ ชูศักดิ์ศรี

๑. ฟังมาก ๒. จำได้ ๓. ใช้คล่องดี

๔. ขบทฤษฎี ด้วยปัญญา ๕. พาขึ้นใจ

( อง.ปญฺจก. ๒๒/๘๗/๑๒๙)


๑. รู้ลึก...ซึ้ง เรื่องราว สาวหาเหตุ

๒. รู้รอบ...เขต ควรรู้ ดูสดใส

๓. รู้กว้าง...ขวาง อย่างละเอียด ละเมียดละไม

๔. รู้การณ์ไกล ในทันที มีโครงการ


ทั้งทางโลก ทางธรรม นำวิถี

รู้ได้ดี มีจรรยา มาประสาน

ลดละเลิก โลภโกรธหลง คงหลักการ

บริหาร งานชีวิต ลิขิตตน


แสงสว่าง ส่องทาง สว่างไสว

ได้ฉันใด ใช้พินิจ คิดเหตุผล

พหูสูต ก็เบิกทาง อย่างอดทน

เพื่อสร้างตน จนก้าวไกล ได้เช่นกัน.

มงคลที่ ๘

๘. มีศิลปะ. (สิปฺปญฺ จ.)



แปด...มีศิลปะ สง่างาม ยามได้เห็น

ทุกอย่างเน้น คุณค่า พาสร้างสรรค์

ฉลาดคิด ฉลาดทำ ล้ำจำนรรจ์

ตั้งใจมั่น ปรับปรุงงาน สะคราญตา

๑. มีศรัทธา ตั้งมั่น พลันมีโชค

๒. ไม่มีโรค ๓. ไม่ขี้คุย ลุยสรรหา

๔. ไม่ขี้เกียจ เพียรมานะ สละเวลา

๕. มีปัญญา มาค้นคิด ผลิตงาน

คิดเป็น...ทาง สร้างสติ สัมปชัญญะ

พูดเป็น...นะ วาทศิลป์ ลิ้นประสาน

ทำเป็น...จริง สิ่งสูงค่า มาเนิ่นนาน

เน้นผลงาน เด่นดี มีฝีมือ

มีศิลปะ เพียงอย่างหนึ่ง พึงประสงค์

ยังดำรง ชีพได้ ให้ยึดถือ

หมั่นฝึกฝน ค้นจุดเด่น เน้นฝีมือ

คอยฝึกปรือ จนชำนาญ สำราญใจ.

มงคลที่ ๙

๙. มีวินัย. (วินโย จ สุสิกฺขิโต.)


เก้า...มีวินัย     ใช้กฎเกณฑ์   เน้นให้เรียบ

เป็นระเบียบ    ข้อบังคับ   กำกับไว้

เพื่อควบคุม    กิริยา    วาจา ใจ

และช่วยให้    สังคม    ร่มเย็นดี


ชีวิต...เรา   เจริญได้   หมายพึ่งโลก

จิตใจ...โศก   ต้องพึ่งธรรม   นำวิถี

ฉลาดรู้   ฉลาดทำ   นำวิธี

วินัยดี   ฉลาดใช้    ให้ถูกทาง


๑. ทางโลกใช้    พัฒนา    พาคิดค้น

ควบคุมคน    ให้ร่วมสุข    ทุกข์สะสาง

๒. ทางธรรมใช้    ปัญญา    พาแนวทาง

เพื่อสรรค์สร้าง   ความสุข..กาย    สบายใจ


ทั้งคฤหัสถ์   และบรรพชิต   คิดฝึกฝน

ปฏิบัติตน   ค้นปัญหา   มาแก้ไข

ให้ถูกต้อง   และเคร่งครัด   ระเบียบ วินัย

ขจัดภัย   ได้พ้นทุกข์   สุขนิรันดร์.

มงคลที่ ๑๐

๑๐. มีวาจาสุภาษิต. (สุภาสิตา จ ยา วาจา.)

สิบ...วาจา   สุภาษิต   คิดบ่งชี้

คำพูดที่   กลั่นกรองแล้ว   แนวสร้างสรรค์

คำพอเหมาะ   พอดี   ที่จำนรรจ์

ผู้ฟังนั้น   ซาบซึ้งใจ   ในทันที

๑. เป็นความจริง   สิ่งที่พูดไป   ไม่คลาดเคลื่อน

ไม่บิดเบือน   ข้อความ   ตามวิถี

๒. คำพูด   ซาบซึ้งใจ   ไพเราะดี

ไม่เสียดสี   ไม่ประชด   หมดศรัทธา

๓. ก่อให้เกิด   ประโยชน์   ทางการทูต

แก่คนพูด   คนฟัง   ยั้งปัญหา

๔. ปรารถนาดี   พลีจิต   คิดเมตตา

ไม่ริษยา   ไม่เคืองโกรธ   ไม่โทษใคร

๕. ถูกเวลา (กาล)   ถูกจังหวะ   ละสับสน

ต้องคาดผล   คาดการณ์   ประสานไว้

ถูกสถานที่ (เทศะ)   ดีล้วน   ควรพูดไป

ย่อมทำให้   ได้ผลดี   มีคุณจริง.


(องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๒๗๑)

มงคลที่ ๑๑

มงคลที่  ๑๑-๑๔  อยู่ในมงคลหมู่ที่  ๔  บำเพ็ญประโยชน์ต่อครอบครัว

๑๑. บำรุงบิดามารดา. (มาตาปิตุอุปฏฺฐานํ.)



สิบเอ็ด...บำรุง   บิดามารดา   พาจิตมั่น

เห็นคุณท่าน   กตัญญู   เชิดชูยิ่ง

ด้วยปัญญา   หาเหตุผล   จนรู้จริง

ไม่ประวิง   สิ่งใด   ใจอดทน

พร้อมทดแทน   คุณท่าน (กตเวที)   นั้นเนื่องนิตย์

เมื่อชีวิต   ท่านอยู่   ดูเหตุผล

๑. ท่านเลี้ยงแล้ว   เลี้ยงตอบแทน   แสนอดทน

จนกระทั่งจน   ท่านชรา   พาชื่นบาน

๒. ทำกิจแทน   ท่านทุกอย่าง   สร้างวิถี

ตราบชีวี   สิ้นไป   ไม่เกียจคร้าน

๓. รักษาทรัพย์   สมบัติ   จัดโครงการ

พัสถาน   มรดก   มิตกไกล

๔. สืบสกุล   หนุนวงศ์   ส่งราศี

มั่นคง...ดี   มีเกียรติก้อง   มองสดใส

๕. จักทำบุญ   อุทิศ   จิตส่งไป

เมื่อท่านได้   ล่วงลับ   ดับชีวา.

(ที.ปา. ๑๑/๒๐๓)

มงคลที่ ๑๒

๑๒. เลี้ยงบุตร. (ปุตฺต สงฺคโห.)


สิบสอง...เลี้ยง   ดูบุตร   จุดควรบอก

๑. กันลูกออก   จากความชั่ว   กลัวปัญหา

๒. ปลูกฝังลูก   ให้ทางดี   มีศรัทธา

๓. การศึกษา   หาให้ลูก   ปลูกฝังใจ


จัดแจงให้   ลูกแต่งงาน   ประสานศรี

กับคนดี   มีจรรยา   อัชฌาสัย

๕. มอบสมบัติ   พัสถาน   มองการณ์ไกล

เมื่อถึงวัย   อันควร   ล้วนจำเป็น

ถ้ารักลูก   อย่าตามใจ   เกินไปนัก

ลูกผิดทัก   ท้วงทันที   ที่พบเห็น

หากทำดี   น่านิยม   ชมให้เป็น

อารมณ์เย็น   มีเหตุผล   คนบูชา

อย่าระเบียบ   เกินไป   ให้ผ่อนผัน

รู้ยาวสั้น   ตามสาเหตุ   สังเกตหา

ให้ธรรมะ   รู้ละจริง   สิ่งมายา

ให้เวลา   แก่ลูกบ้าง   สร้างสุขจริง.


( ๑-๒ เพาะนิสัย, ๓ ให้การศึกษา, ๔-๕ หาหลักแหล่ง)

มงคลที่ ๑๓

๑๓. สงเคราะห์ภรรยา. (ทารสฺส สงฺคโห.)

สิบสาม..สงเคราะห์   ภรรยา   มารศรี

สามีดี   ควรปฏิบัติ   เคร่งครัดยิ่ง

๑. ควรให้เกียรติ   ยกย่อง...อยู่   เชิดชูจริง

ให้เด่น...ยิ่ง   กว่าใคร   ในโลกา


๒. ไม่ดูหมิ่น   ไม่เหยียบหยาม   งามไสว

๓. ไม่นอกใจ   ใฝ่รักจริง   ยิ่งเสน่หา

๔. ให้เป็นใหญ่   ภายในบ้าน   งานตรึงตรา

๕. พร้อมสรรหา   เครื่องแต่งกาย   หมายผูกใจ


ภรรยาดี  มีหน้าที  ที่ดีด้วย

๑. ยินดีช่วย  จัดงานบ้าน  ประสานไว้

๒. สงเคราะห์ญาติ  ข้างสามี  พลีหทัย

๓. ไม่นอกใจ  ใฝ่ภักดี  สามีตน


๔. รักษาทรัพย์  ให้ดี  มีมากยิ่ง

๕. ขยันจริง  ไม่เกียจคร้าน  งานมากล้น

ทุกทุกสิ่ง   ขยันจัด  ฝึกหัดตน

พร้อมอดทน   ฝึกฝนใจ  อภัยกัน.


(ที.ปา. ๑๑/๒๐๔)

มงคลที่ ๑๔

๑๔. ทำงานไม่คั่งค้าง. (อนากุลา จ กมฺมนฺตา.)


สิบสี่...ทำงาน   ไม่คั่งค้าง   สร้างเป็นหลัก

๑. ด้วยใจรัก   ริเริ่ม   เพิ่มความฝัน

๒. รู้จักเวลา   พางานเดิน   เจริญพลัน

๓. กล้าสร้างสรรค์   สิ่งดี   พลีกมล

๔. เต็มใจ...ทำ   นำผลงาน   ไพศาลยิ่ง

๕. แข็งใจ...จริง   ยิ่งดีงาม   ยามฝึกฝน

๖. ตั้งใจ...แล้ว   ลุล่วงไป   ใจอดทน

๗. เข้าใจ...ค้น   วิธีการ   งานควรทำ

สาเหตุงาน   คั่งค้าง   สร้างปัญหา

๑. ไม่ถูกเวลา   พาเสียงาน   พานถลำ

๒. ไม่ถูกวิธี   ผิดลำดับ  กลับระกำ

๓. ไม่ยอมทำ   นำเหตุอ้าง   ต่างต่างนานา

เหมือนดินพอง   หางหมู   ดูริเริ่ม

มีแต่เพิ่ม   พอกพูน   คูณปัญหา

อย่าปล่อยงาน   คั่งค้าง   สร้างปัญญา

เพิ่มคุณค่า   ก้าวหน้าเดิน   เจริญไกล.


(ที. ปา. ๑๑/๒๓๑/๒๓๓, อภิ.วิ.๓๕/๕๐๕/๒๙๒)

มงคลที่ ๑๕

มงคลที่ ๑๕-๑๘  อยู่ในหมู่ที่ ๕  บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม

๑๕. บำเพ็ญทาน. (ทานญฺ จ.)


สิบห้า.บำเพ็ญทาน   การให้   ได้เกื้อหนุน

๑. เพื่อทำคุณ   ให้ผู้รับ   รักผู้ให้

๒. เพื่ออนุเคราะห์   เมตตา   การุณย์ไป

๓. เพื่อจะได้   บูชาคุณ   หนุนกมล


ทานที่ทำ   นำบุญมาก   สามสถาน

๑. วัตถุทาน   บริสุทธิ์   จุดมากผล

๒. เจตนา บริสุทธิ์ ดุจอุบล

๓. แม้บุคคล   ก็บริสุทธิ์   ดุจเดียวกัน


อาการให้ ของสัตบุรุต รุดสรรหา

๑. ด้วยศรัทธา   พาทุนเดิม   เสริมสร้างสรรค์

๒. โดยเคารพ   นบนอบใจ   ใฝ่จำนรรจ์

๓. ตามกาล..พลัน   เพิ่มไพบูลย์   พูนทวี


๔. ให้ด้วยจิต   อนุเคราะห์   เหมาะมากผล

๕.ไม่เบียดเบียนตน   และคนอื่น   รื่นวิถี

อามิสทาน   ผ่านสิ่งของ   มองวิธี

ธรรมทาน...มี   อภัยทาน   ประสานตน.


(องฺ ปญจก. ๒๒/๑๙๒, อ.อ.๒๕๑)

มงคลที่ ๑๖

๑๖. ประพฤติธรรม. (ธมฺมจริยา จ.)


สิบหก..ประพฤติธรรม  นำจิต   คิดรอบคอบ

อยู่ในกรอบ   ความถูกต้อง   ลองฝึกฝน

และความดี   ที่เที่ยงธรรม   นำกมล

ปรับปรุงตน   ตามคำ   พระสัมมาฯ


ปฏิบัติตาม   กุศลกรรมบท   อย่างเคร่งครัด

๑. ไม่ฆ่าสัตว์   หัดสันติ   สิสรรหา

๒. ไม่ลักทรัพย์   ยับยั้ง   ตั้งเจตนา

๓. เรื่องกามา   เว้นขาด   ปราศราคี


๔. เว้นพูดเท็จ   เข็ดจริง   สิ่งหยามเหยียด

๕. เว้นส่อเสียด   เกลียดยุแหย่   แก้วิถี

๖. เว้นคำหยาบ   สุภาพชน   ค้นวิธี

๗. เพ้อเจ้อหนี - พ้นไป   ไกลอุรา


๘.ไม่โลภอยาก  ได้ของเขา   เราเว้นขาด

๙. ไม่พยาบาท   ไม่ปองร้าย   ไม่ปรารถนา

๑๐.ไม่เห็นผิด   จากคลองธรรม   นำอุรา

ตามสัมมา   ทิฏฐิ   สิดีจริง.


(องฺ.ทสก. ๒๔/๑๖๕/๒๘๗)

มงคลที่ ๑๗

๑๗. สงเคราะห์ญาติ. (ญาตกานญฺ จ สงฺคโห.)



สิบเจ็ด..สงเคราะห์ญาติ  ฉลาดล้ำ  นำเฉลย

คนคุ้นเคย   วางใจได้   ให้ดียิ่ง

ญาติทางโลก   ทางธรรม   อุปถัมภ์จริง

ไม่ประวิง   สิ่งใด   ใจศรัทธา


ญาติที่ควร   สงเคราะห์   เสาะวิถี

๑. ประพฤติดี   มีน้ำใจ   ใคร่เสาะหา

๒. พยายาม   ช่วยตนก่อน   ผ่อนอุรา

จึงเมตตา   การุณย์   หนุนตามควร


สงเคราะห์ญาติ   ฉลาดวิธี   ดีจริงนะ

สังคห-   วัตถุสี่   ดีครบถ้วน

๑. ทาน...ปันไป   ให้สิ่งของ   มองตามควร

ความรู้ล้วน   ควรสรรค์สร้าง   รู้วางตน


๒. ปิยวาจา   พาซาบซึ้ง   พึงสรรหา

๓. อัตถจริยา   พาส่งเสริม   เริ่มคิดค้น

๔. สมานัต-   ตตา   พาอดทน

รู้วางตน   เสมอต้น   เสมอปลาย.


(องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๓๒/๔๒, ที.ปา. ๑๑/๒๑๐/๑๖๗)

มงคลที่ ๑๘

๑๘. งานไม่มีโทษ. (อนวชฺชานิ กมฺมานิ.)



สิบแปด...งาน  ไม่มีโทษ  โปรดจำไว้

ไม่มีภัย  ไร้เวร   เกณฑ์จุดหมาย

ไม่เบียดเบียน  ผู้อื่น  ฝืนใจ กาย

ทั้งสองฝ่าย  ได้ประโยชน์  โปรดเร่งทำ

ถูกกฎหมาย   บ้านเมือง  เรืองวิถี

ถูกประเพณี  ธรรมเนียมไทย  ใคร่อุปถัมภ์

ไม่ผิดศีล   สมาธิ   ปัญญานำ

ไม่ผิดธรรม   ย้ำถูก ดี   มีจรรยา

ใคร่ครวญก่อน   แล้วจึงทำ   จงจำไว้

ขั้นทำได้  ไม่คำนึง  ถึงปัญหา

ขั้นทำดี   มีประโยชน์   โปรดตรวจตรา

มีปัญญา   มาพินิจ   “คิดก่อนทำ”

ทำงานที่   มีโทษ  โปรดยั้งหยุด“

๑. ค้าอาวุธ   ๒. ค้ามนุษย์   สุดถลำ

๓. ค้ายาพิษ   ๔. ยาเสพติด   ผิดศีลธรรม

๕. ค้าสัตว์นำ-   เอาไปฆ่า   พาวอดวาย.


(องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๑๗๗/๒๓๓, ว.ว.)

ก้าวสู่ทางประเสริฐ

สิบแปด   มงคลแรก   แจกแจงสาร

เป็นเรื่องการ ดำรงตน ควรขวนขวาย

ให้อยู่ได้ ในสังคม ร่มเย็นกาย

ตราบชีพวาย เป็นคนดี พลีกมล


มีความรู้  ตามอัตภาพ  ทราบดี ชั่ว

ทำให้ตัว  งามสง่า  คราฝึกฝน

สังคมไหน  ก็ต้องการ  สมานตน

ทุกแห่งหน  ต่างชื่นชม  นิยมกัน


ยี่สิบ  มงคลหลัง  ตั้งจิตคล้อง

เป็นเรื่องของ  การฝึกใจ ไม่เปลี่ยนผัน

จนกระทั่ง  หมดกิเลส  เหตุจาบัลย์

เป็นอรหันต์  พ้นทุกข์  สุขกาย ใจ


จงตั้งใจ  ศึกษา  อย่าลบหลู่

หาความรู้  สู่ตน  พ้นสงสัย

เพื่อจะได้  เป็นคนดี  มีน้ำใจ

ที่ใครใคร ก็ต้องการ ประสานกาย

มงคลที่ ๑๙

มงคลที่  ๑๙-๒๑  เป็นมงคลหมู่ที่  ๖

๑๙. งดเว้นจากบาป. (อารตี วิรตี ปาปา.)


สิบเก้า..งดเว้น จากบาป ทราบหลีกหนี

อารตี งด...ทำ กรรมทั้งหลาย

วิรตี เว้น...สิ่งชั่ว กลัวอันตราย

ปาปา..หมาย บาป..ทั้งปวง ล่วงพ้นไป


สิ่งที่ทำ แล้วเป็นบาป ทราบเหตุผล

อกุศล- กรรมบถ จดจำไว้

ทั้งสิบอย่าง สร้างบาปกรรม ย้ำทิ้งไป

ตั้งหทัย งดเว้น เป็นคนดี


ห้ามใจ...เน้น เว้นจากบาป ทราบสิ่งผิด

เชื่อใจ...คิด ผิดทาง ห่างวิถี

ตามใจ...นัก มักใฝ่ต่ำ นำวิธี

ปล่อยใจ...มี ทุกข์ครอง หมองกมล


ทุกอย่างมี ใจเป็นใหญ่ ให้ริเริ่ม

หิริ...เสริม โอตตัปปะ จะมีผล

รู้ละอาย เกรงกลัวบาป ทราบอดทน

พร้อมฝึกตน ค้นคุณธรรม ประจำใจ.


(องฺ ทสก. ๒๔/๑๖๕/๒๘๕)

มงคลที่ ๒๐

๒๐. สำรวมจากการดื่มน้ำเมา (มชฺชปานา จ สญฺญโม.)



ยี่สิบ...สำรวม จากการ ดื่มน้ำเมา

ให้ตัวเรา เฝ้าระวัง ยับยั้งไว้

สิ่งเสพติด ให้โทษ โปรดห่างไกล

วิธีใด ก็ตาม งามฤดี


โทษของการ ดื่มน้ำเมา เฝ้าคอยนับ

๑. เผาผลาญทรัพย์ ๒. ผลาญสุขภาพ ทราบหลีกหนี

๓. เกียรติยศ หมดไป ๔. ผลาญไมตรี

๕. ผลาญศักดิ์ศรี ๖. สติปัญญา พาสิ้นไป


โทษข้ามภพ ข้ามชาติ ฉลาดค้น

๑. เกิดเป็นคน ปัญญาอ่อน สอนไม่ไหว

๒. เกิดเป็นสัตว์ เลื้อยคลาน เคยคลาไคล

๓. เป็นคนใบ้ ๔. คนบ้า พาเสียคน


มีวิธี เลิกเหล้าได้ ให้เด็ดขาด

๑. ต้องฉลาด ให้เห็นโทษ โปรดฝึกฝน

๒. ตั้งใจแน่  ๓. แม้ศักดิ์ศรี  มีในตน

๔. สื่อคิดค้น  ๕. คนขี้เหล้า เฝ้าห่างไกล.

มงคลที่ ๒๑

๒๑. ไม่ประมาทในธรรม. (อปฺปมาโท จ ธมฺเมสุ.)



ยี่สิบเอ็ด... ไม่ประมาท ในธรรม...สิ

มีสติ อยู่เสมอ ไม่เผลอไผล

ไม่ประมาท ในเหตุ สังเกตไกล

ระลึกได้ ชั่ว ดี มีผลจริง



๑. มีสติ ยับยั้ง ๒. ระวังภัย

๓. ไม่ตกไป ในทางเสื่อม เสริมดียิ่ง

๔. ขะมักเขม้น ๕. เน้นหน้าที่  มีผลจริง

๖. รอบคอบสิ่ง ตามมา พาฝึกตน


สิ่งไม่ควร ประมาท ฉลาดหา

๑. ในเวลา ล่วงเลยไป ไห้ฝึกฝน

บัดนี้เรา ทำอะไรอยู่ รู้ฝึกตน

๒. วัยผ่านพ้น อย่าเพลิดเพลิน เชิญน้อมนำ


๓. ไม่ประมาท ในชีวิต ลิขิตโชค

๔. อาจมีโรค รุมมา อย่าถลำ

๕. ในการงาน ๖. การศึกษา หาประจำ

๗. ปฏิบัติธรรม ร่ำไป ใจสุขจริง.

มงคลที่ ๒๒

มงคล ๒๒-๑๖  จัดอยู่ในหมู่ที่ ๗  การแสวงหาธรรมเบื้องต้นใส่ตัว

๒๒. มีความเคารพ. (คารโว จ.)
 


ยี่สิบสอง... เราควรมี ความเคารพ

ความดีครบ ตระหนักไว้ ให้ดียิ่ง

เห็นคุณค่า ว่าสำคัญ มั่นใจจริง

รู้จักสิ่ง   ชั่ว ดี    มีปัญญา


สิ่งที่ควร  เคารพ  นบนอบร่าง

ครบหกอย่าง สร้างประโยชน์ โปรดสรรหา

๑. เคารพใน ความดี พระศาสดา

๒. รู้คุณค่า ในพระธรรม นำบรรยาย


๓. เคารพใน พระสงฆ์ คงศาสนา

๔. การศึกษา หาความรู้ สู่จุดหมาย

๕.ความไม่ประมาท ขาดสติ สิถึงตาย

๖. รู้ขวนขวาย การต้อนรับ ให้จับใจ


ผู้ใดโปรด ประโยชน์ จากผู้อื่น


ควรหยิบยื่น ความเคารพ นบนอบไหว้


เห็นคุณธรรม ล้ำค่า ปัญญาไว


พร้อมมั่นใจ พัฒนาตน ค้นวิธี.


(องฺ.ฉกฺก. ๒๒/๓๐๓/๓๖๘)

มงคลที่ ๒๓

๒๓. มีความถ่อมตน. (นิวาโต จ.)



ยี่สิบสาม..มีความ ถ่อมตน คนควรหา

๑. กิริยา อ่อนน้อม พร้อมวิถี

๒. มีวาจา อ่อนหวาน..ซึ้ง ตรึงฤดี

๓. เป็นผู้มี ใจอ่อนน้อม พร้อมฝึกตน


ผลไม้ดก ปกเต็มต้น ผลดียิ่ง

ย่อมน้อมกิ่ง ลงต่ำ นำเหตุผล

คนดีจริง สิ่งล้ำค่า พากมล

ย่อมถ่อมตน เรื่อยไป ใจศรัทธา


โทษของการ อวดดื้อ ถือตัวตน

๑. ให้เสียคน เสียอนาคต หมดวาสนา

๒. ให้เสียมิตร ไมตรีร้าง ล่วงโรยรา

๓. อวดเบ่งพา เสียหมู่คณะ ละหทัย


๑.เหตุเพราะชาติ ๒. เพราะทรัพย์ กลับหมองหมาง

๓. และกระด้าง โดยโคตร โปรดไม่ไหว

๔. ยอมดูหมิ่น แม้ญาติตน คนจัญไร

ย่อมทำให้ เสื่อมลง จงไตร่ตรอง.

มงคลที่ ๒๔

๒๔. มีความสันโดษ. (สนฺตุฏฺฐี จ.)



ยี่สิบสี่...มี- ความสันโดษ ประโยชน์ยิ่ง

ตามมี...จริง สิ่งตนมี หนีหม่นหมอง

ตามได้...ส่วน ที่ควรได้ ใฝ่จิตปอง

ตามควร...ครอง ของของตน ค้นวิธี


ควรแก่ฐานะ ละใฝ่สูง เกิดศักยภาพ

แก่สมรรถภาพ ทราบกำลัง ตั้งวิถี

แก่ศีลธรรม นำจิตตน ค้นสิ่งดี

แก่ศักดิ์ศรี มีช่องทาง วางโครงการ


สิ่งที่คน ไม่รู้พอ ขอไม่ขาด

๑. ในอำนาจ วาสนา พาประสาน

๒. ในทรัพย์สมบัติ มัดมากยิ่ง สิ่งต้องการ

๓. ทั้งอาหาร ๔. กามคุณ หนุนกมล


จนชั่วคราว เพราะไม่มี ชีวีร้อน

จนถาวร เพราะไม่พอ ขอทุกหน

แสวงหา ความสันโดษ โปรดฝึกตน

ไม่อยากจน ค้นหาหลัก “รู้จักพอ”

มงคลที่ ๒๕

๒๕. มีความกตัญญู. (กตญฺญุตา)



ยี่สิบห้า..มีความ กตัญญู สู้เกื้อหนุน

รู้บุญคุณ ที่ผู้อื่น ยื่นให้หนอ

รู้อุปการะ จะซาบซึ้ง ตรึงตราพอ

ไม่รีรอ ขอตอบแทน แสนเปรมปรี


กตเวที ดีพร้อม น้อมคุณท่าน

๑. จงยึดมั่น ประกาศคุณ หนุนศักดิ์ศรี

๒. พร้อมทดแทน คุณท่าน มั่นฤดี

บุพการี ผู้มีคุณ หนุนกมล


สมบัติคนดี มีกตัญญู รู้สังเกต

๑. รู้จักเหตุ ที่เกิด ประเสริฐล้น

๒. รู้จักผล อย่างไร ใจอดทน

๓. รู้จักตน จนเหมาะยิ่ง สิ่งควรทำ


๔. รู้ประมาณ ปัจจัยสี่ พอดีฐาน

๕. รู้จักกาล เวลา อย่าถลำ

๖. รู้ชุมชน ค้นสิ่งควร ชวนจดจำ

๗. จิตน้อมนำ รู้บุคคล ผลดีจริง.


(องฺทุก. ๒๐/๑๐๙, ที.ปา. ๑๑/๓๓๑/๒๖๔, องฺ.สตฺตก. ๒๓/๑๑๔)

มงคลที่ ๒๖

๒๖. ฟังธรรมตามกาล. (กาเลน ธมฺมสฺสวนํ.)



ยี่สิบหก.ฟังธรรม ตามกาล งานควรหา

สละเวลา ฟังธรรม ย้ำดียิ่ง

ยกระดับ จิตใจ ได้ดีจริง

ปัญญาดิ่ง สูงขึ้นไป ใจศรัทธา


กาลที่ควร ฟังธรรม จำไว้นะ

๑. วันธรรมะ- สวนะ จะใฝ่หา

๒. เมื่อจิตถูก- วิตก- ครอบงำ...พา

๓. มีผู้มา แสดงธรรม นำบรรยาย


อานิสงส์ การฟังธรรม จำห้าสิ่ง

๑. ได้ฟังจริง สิ่งไม่เคย เลยขวนขวาย

๒. เคยฟังแล้ว ยิ่งเข้าใจ ได้มากมาย

๓. สงสัยคลาย บรรเทา เข้าใจจริง


๔. ทั้งยังทำ ความเห็น ให้ถูกต้อง

ตามทำนอง คลองธรรม ล้ำเลิศยิ่ง

๕. จิตผ่องใส ไร้หมองหม่อน จนรู้จริง

นับเป็นสิ่ง สูงค่า มาสู่ตน.


(องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๒๐๒/๒๗๖

มงคลที่ ๒๗

ตั้งแต่มงคล ๒๗-๓๐ จัดอยู่ในมงคลหมู่ที่ ๘  การแสวงหาธรรมะเบื้องสูงใส่ตัวให้เต็มที่



๒๗. มีความอดทน (ขนฺตี จ.)


ยี่สิบเจ็ด..มีความ อดทน ค้นให้ทั่ว

๑. หลีกเลี่ยงชั่ว ให้ได้ ให้ฝึกฝน

๒. ทำความดี ต่อไป ใจอดทน

๓. รักษาตน พ้นเศร้าหมอง ครองหทัย


๑. อดทนต่อ ความลำบาก ตรากตรำรุก

๒. ทนต่อทุกข- เวทนา พาสดใส

๓. อดทนต่อ ความโกรธ ความเจ็บใจ

๔. ความน่าใคร่ ในกิเลส สังเกตการณ์


๑. อธิวาสน- ขันติ สิคงมั่น

ความอดกลั้น หมั่นยับยั้ง ตั้งเป็นฐาน

๒. ตีติกขา- ขันติ สิชื่นบาน

ความทนทาน ประสานใจ ไร้กังวล


ไม่อดทน ให้โทษ ห้าสถาน

๑. ไม่ชื่นบาน ไม่น่ารัก มักสับสน

๒. มากด้วยเวร ๓. มากด้วยโทษ โปรดอดทน

๔. หลงลืมตน ๕. จนสู่อบาย วายชีวา.


(ที.มหา. ๑๐/๕๔/๕๗, ขุ.ธ. ๒๕/๒๔/๓๙)

มงคลที่ ๒๘

๒๘. เป็นคนว่าง่าย. (โสวจสฺสตา.)



ยี่สิบแปด...เป็น คนว่าง่าย   หมายหยุดยั้ง

๑. ฟังคำสั่ง   สอนด้วยดี   ที่สรรหา

๒. ทำตามคำ   สั่งสอน   วอนตรึงตรา

๓. รับรู้ค่า   คุณผู้สอน   มิคลอนคลาย


ผู้ใดกล่าว   คำขนาบ   ชี้โทษ...เน้น

ให้เราเห็น   โทษของเรา   เฝ้าขวนขวาย

ดุจผู้ชี้ ขุมทรัพย์ให้ ไม่รู้คลาย

ตั้งจิตหมาย    คบไว้   ไม่เสื่อมเลย


คนหัวดื้อ    ในโลกนี้    มีหลักฐาน

๑. พวกดื้อด้าน    เพราะโง่เขลา    เฝ้าเฉลย

๒. พวกดื้อดึง    เพราะหลงตัว    ชั่วจังเลย

๓. พวกบ้า...เอ่ย    มักโกรธ    โฉดเฉาจริง


อานิสงส์    การเป็น    คนว่าง่าย

๑. คนทั้งหลาย    เมตตา    การุณย์ยิ่ง

๒. ให้ได้รับ    โอวาท    ฉลาดจริง

๓. ละโทษทิ้ง    ๔. บรรลุธรรม    นำหทัย.


(ขุ.ธ. ๒๕/๑๖/๒๑)

มงคลที่ ๒๙

๒๙. เห็นสมณะ. (สมณานญฺ จ ทสฺสนํ)



ยี่สิบเก้า...เห็น สมณะ จะศึกษา

๑. เห็นด้วยตา พบเห็น เด่นไสว

๒. เห็นด้วยญาณ รู้เห็น...พา ปัญญาไว

๓. เห็นด้วยใจ คิดเห็น...พระ สมณธรรม


๑. หมั่นเข้าใกล้ ไปมา หาสู่ท่าน

๒. ระลึกมั่น กิริยา จรรยาล้ำ

๓. ตามดูตามเห็น ๔. ตามฟัง ตั้งใจจำ

๕. ตามอุปถัมภ์ ปัจจัยสี่ มีศรัทธา


สมณะ   สู่สกุล   หนุนบุญให้

๑. ย่อมเลื่อมใส เพราะได้เห็น เป็นวาสนา

๒. ให้อาสนะ จะกราบไหว้ ใจศรัทธา

๓. ตระหนี่หนา พาสิ้นไป ใจสุขจริง


๔. ถวายทาน ตามกำลัง ดังปรารถนา

๕. ได้ปัญญา คราฟังธรรม ล้ำเลิศยิ่ง

ลดละเลิก โลภโกรธหลง ปลงได้จริง

พาจิตดิ่ง พ้นทุกข์ สุขนิรันดร์.


(ที.ปา. ๑๑/๒๐๕-๒๐๖)

มงคลที่ ๓๐

๓๐. สนทนาธรรมตามกาล. ( กาเลน ธมฺมมสฺสากิจฺฉา.)



สามสิบ..สนทนาธรรม ตามกาล งานควรถาม

๑. ความจริงตาม ธรรมชาติ มิอาจผัน

๒. ความดีงาม ความถูกต้อง คลองธรรมพลัน

ปัญญามั่น หมั่นไตร่ตรอง มองวิธี


วิธีเลือก คู่สนทนา สรรหาไว้

๑. อัธยาศัย ใฝ่ธรรม นำวิถี

๒. เรื่องเหมาะกับ บุคคลนั้น มั่นฤดี

พูดถูกที่ ถูกกาล งานควรทำ


สนทนาธรรม จำไว้ ใคร่เสาะหา

๑. ในธรรม...พา ดี ชั่ว กลัวถลำ

๒. ด้วยธรรมะ ละบาป บุญหนุนนำ

๓. และเพื่อธรรม นำความรู้ สู่ปวงชน


การพูดคุย เปลี่ยนความคิด ไม่ริษยา

ด้วยเมตตา พาก้าวไกล ให้ฝึกฝน

สนทนาธรรม ตามกาล ผ่านกมล

เพื่อหลุดพ้น จากทุกข์ สุขกายใจ.

มงคลที่ ๓๑

มงคงที่  ๓๑-๓๔  อยู่ในหมู่ที่  ๙  การฝึกภาคปฏิบัติเพื่อกำจัดกิเลสให้สิ้นไป


๓๑. บำเพ็ญตบะ (ตโป จ.)


สามสิบเอ็ด บำเพ็ญตบะ  จะเสถียร

ทำความเพียร   เผาผลาญชั่ว  เกลียดกลัวไว้

เผากิเลส  ให้ร้อนรน   พ้นจากไป

จิตผ่องใส   สงบสุข    ทุกเวลา

๑. สัลเลขะ   ละกิเลส    เหตุทุกข์เข็ญ

แบบค่อยเป็น   ค่อยไป   ใคร่สรรหา

๒. ธุตังคะ   จะแรงร้น   ผลทันตา

ขันติพา   ความเพียรสูง    จูงจากไป

วิธีบำเพ็ญ   ตบะ    ละหละหลวม

๑. รู้สำรวม   ระวังตน   พ้นเหลวไหล

ทั้งทางหู    จมูกลิ้น    กายและใจ

๒. ความเพียรใช้    ร่วมกัน    มั่นคงดี

๓. เอาขันติ    เผาผลาญบาป    อกุศล

ความอดทน   จนก้าวหน้า    เลิศราศี

ความอดกลั้น   หมั่นระวัง    ตั้งฤดี

และต้องมี   ความทนทาน   ประสานตน.

มงคลที่ ๓๒

๓๒. ประพฤติพรหมจรรย์. (พฺรหฺม๎จริยญฺ จ.)



สามสิบสอง ประพฤติ- พรหมจรรย์

ประพฤติอัน ประเสริฐ เลิศมรรคผล

อย่างพระพรหม เคร่งครัด ฝึกหัดตน

กระทั่งพ้น กิเลส เหตุจูงใจ

ความประพฤติ อันประเสริฐ เกิดสิบสถาน

๑. การให้ทาน ผ่านสิ่งของ ลองฝึกไว้

๒. ขวนขวายการ ทำความดี พลีหทัย

๓. ศีลห้าใช้ เป็นนิตย์ ปิดบาปกรรม

๔. พรหมวิหาร ทั้งสี่ มีประสาน

๕. งดเว้นการ เสพกาม งามเลิศล้ำ

๖. ความพอใจ ในคู่ครอง คล้องใจจำ

๗. ความเพียรนำ กรรมดี พลีกมล

๘. รักษาศีล อุโบสถ งดบาปเน้น

๙. ปัญญาเห็น อริยสัจ จัดมรรคผล

๑๐. ตามคำสอน พุทธศาสน์ ประกาศตน

ประเสริฐล้น พ้นทุกข์ สุขนิรันดร์.

มงคลที่ ๓๓

๓๓. เห็นอริยสัจ. (อริยสจฺจาน ทสฺสนํ)



สามสิบสาม..เห็น- อริยสัจ จัดดียิ่ง

คือความจริง อันประเสริฐ เกิดเปลี่ยนผัน

ทำให้คน ผู้เห็น...แจ้ง แจงจำนรรจ์

ประเสริฐ..พลัน มั่นคง ตรงนิพพาน


.ทุกข์..ท่วมท้น ทนอยู่ รู้ผลักไส

๒. สมุทัย ให้รู้เหตุ เลศไพศาล

๓. นิโรธ..พา หาทางดับ กลับเบิกบาน

๔. มรรค..ประหาร อนุสัย บรรลัยลง


ให้การเห็น อริยสัจ จัดเป็นฐาน

๑. สัจจญาณ รู้จริง สิ่งประสงค์

๒. กิจจญาณ การรู้กิจ พิชิตลง

๓. กตญาณ..ส่ง รู้แจ้งชัด สัจจธรรม


เห็นสามรอบ สี่สัจ จัดสิบสอง
อาการของ อริยสัจ จัดอุปถัมภ์
ทุกข์ได้รู้ ตัณหาละ นิโรธทำ
แจ้งแล้วนำ มรรคไป ให้ไพบูลย์.

(อภิ.วิภงฺค. ๓๕/๑๔๕/๑๒๗, สํ.ม.๑๙/๑๖๗๐/๕๓๐)

มงคลที่ ๓๔

๓๔. ทำพระนิพพานให้แจ้ง. (นิพฺพานสจฺฉิกิริย จ.)



สามสิบสี่..ทำ พระนิพพาน ให้แจ้ง..ก่อน

ความดับถอน พ้นกิเลส เหตุเสื่อมสูญ

สภาพจิต พิชิตทุกข์ สุขเพิ่มพูน

พาไพบูลย์ ปลอดภัย ไร้กังวล


๑. สอุปา- ทิเสส- นิพพาน..เห็น

นิพพานเป็น มีชีวิต ประสิทธิ์ผล

๒. อนุปา- ทิเสส- นิพาน..ดล

เบญจขันธ์พ้น นิพพานตาย วายชีวา


การจะทำ พระนิพพาน ให้แจ้งนั้น

ต้องรู้ทัน สมุทัย ไร้ปัญหา

ทุกข์ได้รู้ ตัณหาละ นิโรธพา

แจ้งแล้วหา มรรคประหาร ประสานตน


เหมือนไฟไหม้ จนหมดเชื้อ เหลือแต่เถ้า
เชื้อไหนเล่า จะติดไฟ ไร้เหตุผล
ตัณหาไร้ เชื้อไฟหมด ปลดภพปน
นิพพานดล ผลไพบูลย์ พูนทวี.

ขุ.อิติ.๒๕/๒๒๒/๒๕๘, องฺ.นวก. ๒๓/๒๑๖/๓๙๔)

มงคลที่ ๓๕

มงคล ๓๕-๓๘  จัดอยู่ในหมู่ที่  ๑๐  ผลจากการปฏิบัติจนหมดกิเลส


๓๕. จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม.
(ผฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ จิตตํ ยสฺส น กมฺปติ.)


สามสิบห้า..จิต ไม่หวั่นไหว ในโลกธรรม

จิตผู้ทำ นิพพานแจ้ง แสดงวิถี

ย่อมมั่นคง อุเบกขา พาฤดี

ไตรลักษณ์ชี้ สามัญลักษณ์ ประจักษ์ตน


อิฏฐารมณ์ ชมผลดี ที่ไร้ทุกข์

๑.ลาภ  (๒)ยศ  (๓)สุข  ๔. สรรเสริญ เจริญผล

เกิดจากการ ทำความดี  มีในตน

ต่างคิดค้น หวงห่วงหา พาฤดี


อนิฏฐารมณ์ ชมผลร้าย หมายปรากฏ

๕. เสื่อมลาภหมด  ๖. ยศสิ้นไป ไร้วิถี

๗. ทุกข์กายจิต ๘. มิตรนินทา มาราวี

ผลทั้งสี่ เพราะความชั่ว กลั้วกมล


ทุกอย่างนี้ อาศัยเหตุ สังเกตไว้

อย่าหวั่นไหว ในโลกธรรม นำเหตุผล

พิจารณา อย่างไตรลักษณ์ หลักฝึกตน

พร้อมคิดค้น อริยสัจ จัดโครงการ

(สํ.สฬ.๑๘/๑)

มงคลที่ ๓๖

๓๖. จิตไม่โศก. (อโสกํ.)



สามสิบหก.. จิตไม่โศก โชคดีนัก

พ้นจากรัก โลภโกรธหลง ในสงสาร

ก็เพราะสัตว์ ไม่มัดจิต สนิทนาน

หรือสังขาร ใดใด ไม่ใฝ่ปอง


ผู้ไม่มี สิ่งที่รัก จักไม่ทุกข์

ย่อมพบสุข หมดธุลี ไม่มีหมอง

ไม่กลุ้มใจ ไม่ตรอมใจ ไม่ใฝ่ปอง

สติครอง เด็ดเดี่ยว ไม่เกี่ยวใคร


เพื่อตัดโศก ตัดรัก จักปองหมาย

นึกถึงตาย คลายวิถี ดีไฉน

มีสติ สมาธิ ดำริไว

สร้างดีไว้ ไม่ประมาท ฉลาดจริง


สัตว์ทั้งหลาย ติดบ่วงพราน นานเหนี่ยวรั้ง
หมดกำลัง หมดอำนาจ ขาดสุขยิ่ง
คนติดบ่วง เสน่หา พาทุกข์จริง
จิตโศกยิ่ง สิ่งควรคิด พิจารณา.

มงคลที่ ๓๗

มงคล  ๓๗  จิตปราศจากธุลี  (วิรชํ)


สามสิบเจ็ด...จิต ปราศจาก ธุลี...เลศ

หมดกิเลส โลภโกรธหลง ปลงเถิดหนา

จิตสะอาด ผ่องใส ไร้มายา

สังโยชน์พา ลาร้างไกล ใจสุขจริง


ธุลีมี สองอย่าง หนทางออก

๑. ธุลีภายนอก ฝุ่นละออง มัวหมองยิ่ง

๒. ธุลีภายใน โลภโกรธหลง ปลงให้จริง

ล้วนเป็นสิ่ง เศร้าหมอง ครองอุรา


ระดับโทษ ของกิเลส สองอย่างปลูก

๑. ทางโลก...ถูก ดูหมิ่น สิ้นวาสนา

๒. ในทางธรรม ย้ำนรก ยกขึ้นมา

เมื่อกายา แตกตาย วายชีพลง


บัวมีใบ ไม่ติดน้ำ นำวิถี
ผู้ใดมี นิพพานแจ้ง แจงประสงค์
ย่อมมีจิต ปราศจาก ธุลีลง
กุศลส่ง สดใส ไร้มลทิน.

มงคลที่ ๓๘

มงคลที่  ๓๘  จิตเกษม  (เขมํง)


สามสิบแปด.. จิตเกษม เปรมสนิท

สภาพจิต หมดกิเลส เหตุสูญสิ้น

พ้นโยคะ เครื่องผูกสัตว์ มัดมลทิน

พาภพสิ้น พ้นเกิดตาย ว่ายเวียนวน


๑. กามโยคะ ละกามคุณ หนุนจิตละ

๒. ภวโยคะ พอใจฌาน ประสานผล

๓. ทิฎฐิโยคะ ละถือผิด ความคิดตน

๔ อวิชชา..พ้น โยคะแรง แจ้งสัทธรรม


๑. พาพ้นภัย ภายใน ใจแน่วแน่

ทั้งเกิดแก่ เจ็บตาย คลายถลำ

๒. ภัยภายนอก ธรรมชาติ และคนทำ

รวมบาปกรรม ตามทัน หมั่นฝึกตน


๑. ได้สำเร็จ อภิญญาหก ยกยวดยิ่ง
๒. ได้รู้จริง วิชชาแปด แผดมรรคผล
๓. ปฏิสัม- ภิทาญาณ การสอนคน
ประสิทธ์ผล “จิตเกษม” เปรมปรีดา


(องฺ.ฉกฺก. ๒๒/๓๑๑, ที.สี.๙/๑๐๑,องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๑๗๒/๒๑๖)

สรุป (การเป็นคนดี)

เพื่อจะได้                     ๑. เป็นคนดี          ๒. มีน้ำใจ

๓. ความพร้อมใน          การฝึกตน             ค้นเสาะหา

๔. ต้องเป็นคน             มีประโยชน์            โปรดตรวจตรา

๕. ครอบครัวพา            มั่นคงครบ             อบอุ่นใจ

สามัคคี                        มีพลัง                   ตั้งสติ

สมาธิ                          ภาวนา                   ปัญญาใส

ทาน..ปันของ               ผองวิชา                 พาอภัย

พร้อมมั่นใจ                  รักษาศีล                 สิ้นชีวา

เทวดา                        มนุษย์                     ทั้งหลายนั้น

ต่างมุ่งมั่น                    หมั่นฝึกตน              ค้นเสาะหา

ย่อมเป็นผู้                   ไม่ปราชัย                 ในทุกครา

จิตศรัทธา                   พาสุขใจ                  ไกลกังวล

นี่คือ                           อุดม                        มงคลแน่

นำสุขแท้                     แก่ชีวิต                    ประสิทธิ์ผล

รู้จักคิด                        พินิจใช้                    ใจอดทน

สติค้น                         มงคลดี                    มีโชคชัย.

                            ( ขุ.ขุ. ๒๕/๕/๕)

มีสติ

จงรู้จัก คิดพูดทำ ย้ำเริ่มริ                 

อย่างมีสติ และอดทน ค้นแก้ไข

อย่าปล่อยให้ อารมณ์ บ่มเป็นไฟ

ครอบงำใจ ตนเอง เร่งจดจำ

ผิดเป็นครู ดูให้ชัด จัดวิถี

รู้แล้ว...มี ทางแก้ไข ไม่ถลำ

รีบปรับปรุง ให้รุ่งเรือง เรื่องควรทำ

อย่าให้ซ้ำ รอยเดิม เพิ่มสิ่งดี.

ปัจฉิมพจน์

                     ปัจฉิมพจน์


               อ่านจบแล้ว    ใคร่ควรคิด     จิตแจ่มใส

          อย่าทิ้งไป           ไกลหัตถ์        รัศมี

          เก็บเอาไว้           ไม่มีโทษ        ประโยชน์มี

          ให้ผู้ที่                 สนใจ            ใช้ฝึกตน

               ขอ..จบมงคล  ชีวิต              ลิขิตไว้

         ท่าน...เลือกใช้     ตามโอกาส     ฉลาดค้น

         จงโชคดี             มีชัย               ได้ฝึกตน

         มีสุข..ล้น            พ้นอาสวะ        ละรูป นาม


          พระบำรุง   ปานสุวรรณ ฉายา อุปฏฺฐาโก.

ปัจฉิมพุทโธวาท

ปัจฉิมพุทโธวาท


หนฺททานิ ภิกฺขเว อามนฺตยา มิโว
วยธมฺมา สงฺขารา
อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ.


ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลาย
มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
ขอพวกเธอทั้งหลาย จงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน
ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด.

(มหาปรินิพพานสูตร. ๑๐/๑๔๘)



อนิจฺจา วต สงฺขารา อุปฺปาทวยธมฺมิโน
อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ เตสํ วูปสโม สุโข.

สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยงหนอ
มีอันเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา
เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไป
ความเข้าไประงับแห่งสังขารทั้งหลายเหล่านั้นเป็นสุข.

(มหาปรินิพพานสูตร. ๑๐/๑๔๙)


.......................................


ปัจฉิมพุทโธวาท

 
                                               ภิกษุ                 ทั้งหลาย              คลายความเขลา
                                          บัดนี้เรา                 ขอเตือนเธอ          กันเผลอไผล
                                          ว่าสังขาร               ทั้งหลาย               มีหมายใจ
                                          มีเสื่อมไป               เป็นธรรมดา          อย่ากังวล

                                              เธอจงยัง            ประโยชน์ตน         ประโยชน์ท่าน
                                          จงมุ่งมั่น                 ให้ถึงพร้อม            ยอมฝึกฝน
                                          ด้วยความไม่            เผลอสติ               ผลิกมล
                                          ประมาท...ตน          จนไม่คิด               พิจารณา

                                                        (มหาปรินิพพานสูตร. ๑๐/๑๔๘)



                                              สังขาร               ทั้งหลาย                หมายเกิดก่อ
                                         ไม่เทียงหนอ            สักอย่าง                 ทางใฝ่หา
                                         มีเกิดขึ้น                  และเสื่อมไป           เป็นธรรมดา
                                         เกิดขึ้นมา                แล้วย่อมดับ            ลับลาไป

                                              ความเข้าไป        ระงับ                      ดับสงสาร
                                          แห่งสังขาร             ทั้งหลาย                 คลายสงสัย
                                          เหล่านั้น..พลัน       พ้นทุกข์                   คลุกหทัย
                                          เป็นสุข...ใจ            สงบเย็น                  เช่นนิพพาน

                                                          (มหาปรินิพพานสูตร. ๑๐/๑๔๙)

บรรณานุกรม

บรรณานุกรม

๑. กรมศาสนา. พระไตรปีฎกภาษาไทยฉบับสังคายนา ในพระบรมราชูปถัมภ์ กรุงเทพฯ , กรมศาสนา, ๒๕๓๐.

๒. ชมรมพุทธศาสตร์ ๖ สถาบัน.
มงคลชีวิต ฉบับ ธรรมทายาท เล่ม ๑.
ศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรม (วัดธรรมกาย)   กรุงเทพฯ,
กราฟิกอาร์ท (๑๙๗๗), ๒๕๒๕.

๓. ชมรมพุทธศาสตร์ ๙ สถาบัน.
มงคลชีวิต ฉบับ ธรรมทายาท เล่ม ๒.
ศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรม (วัดธรรมกาย)   กรุงเทพฯ,
นิวไวเด็ก, ๒๔๒๘..

๔. ชูชีพ ปัญญานุภาพ. พระไตรปีฎกฉบับสำหรับประชาชน กรุงเทพฯ. มหามงกุฎราชวิทยาลัย, ๑๑/๒๔๓๒

๕. ธรรมรักษา. พระไตรปีฏก ฉบับสุภาษิต. กรุงเทพฯ. สุขภาพใจ, ๒๔๒๖.

๖. บุญมา จิตจรัส. มงคล ๓๘ ประการ ฝ่ายวิชาการ กองศาสนศึกษา กรมศาสนา.กรุงเทพ. คลังวิทยา, ๒๕๓๓

๗. ปิ่น มุทุกันต์,พ.อ. มงคลชีวิต ภาค ๑-๓. ประมวลทางก้าวหน้า ตามแนวพุทธศาสนา, กรุงเทพฯ.
คลังวิทยา, ๒๕๐๒.

๘. พระครูศิริปัญญามุนี,(อ่อน). คัมภีร์มงคลทีปนีแปล กรุงเทพฯ. เลี่ยงเชียงจงเจริญ.

๙. พระธรรมมหาวีรนุวัตร, มงคลทีปนี กรุงเทพฯ. ส.ธรรมภักดี, ๒๕๐๓.

๑๐. พระราชวรมุณี, (ประยุทธ์ ปยุตโต) พุทธธรรม. กรุงเทพฯ. โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮาส์, ๒๕๒๕.

๑๑. พระสมชาย ฐานวุฑฺโฒ, มงคลชีวิตฉบับธรรมทายาท. กรุงเทพฯ.
ชมรมพุทธศาสตร์สากล ในอุปถัมภ์ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปญฺโญ)

๑๒. มหามงกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ คณะกรรมการแผนกตำรา, มังคลัตถทีปนี แปล
เล่ม ๑-๕ กรุงเทพฯ. มหามงกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๑๘.

๑๓. วศิน อินทสระ. สาระสำคัญแห่งมงคล ๓๘ เล่ม ๑-๒ กรุงเทพฯ บรรณาคาร, ๒๕๑๔.

๑๔. สมเด็จพระมหาวีรวงค์ (พิมพ์ ธมฺมธโร) มงคลยอดชีวิต. กรุงเทพฯ. ชวนพิมพ์, ๒๔๑๘

๑๕. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส. พุทธศาสนสุภาษิต.กรุงเทพฯ.มหามงกุฎฯ๒๕๒๙.

๑๖. สมเด็จพระสังฆราช. (จวน อุฏฺฐายี). มงคลในพระพุทธศาสนา, กรุงเทพฯ. ประชาชน.

๑๗. เสามนัส โปตระนันทน์,พ.อ. (พ.) พระไตรปีฎก ฉบับย่อ กรุงเทพฯ. มหามงกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๒๙.
อักษรย่อคัมภีร์อ้างอิง
องฺ.อฏฺฐก. องฺคุตฺตรนิกาย อฏฺฐกนิปาต.
องฺ.จตุกฺก. องฺคุตฺตรนิกาย จตุกฺกนิปาต.
องฺ.ฉกฺก. องฺคุตฺตรนิกาย ฉกฺกนิปาต.
องฺ.ทสก. องฺคุตฺตรนิกาย ทสกนิปาต.
องฺ.นวก. องฺคุตฺตรนิกาย นวกนิปาต.
องฺ.ปญฺจก. องฺคุตฺตรนิกาย ปญฺจกนิปาต.
องฺ.สตฺตก. องฺคุตฺตรนิกาย สตฺตกนิปาต.
อภิ.วิ. อภิธมฺมปีฎก วิภงฺค.
อุ.อ.อุทาน.อ. อุทานอฏฺฐกถา (ปรมตฺถทีปนี)
ขุ.อิติ. ขุทฺทกนิกาย อิติวุตฺตก.
ขุ.อุ. ขุทฺทกนิกาย อุทาน.
ขุ.ขุ. ขุทฺทกนิกาย ขุทฺทกปาฐ.
ขุ.ชา.เอก. ขุทฺทกนิกาย เอกนิปาต.
ขุ.ชา.ฉกฺก. ขุทฺทกนิกาย ชาตก ฉกฺกนิปาต.
ขุ.ชา.ตึส. ขุทฺทกนิกาย ชาตก ตึสนิปาต.
ขุ.ชา.ทสก. ขุทฺทกนิกาย ชาตก ทสกนิปาต.
ขุ.ชา.ทุก. ขุทฺทกนิกาย ชาตก ทุกนิปาต.
ขุ.ชา.นวก. ขุทฺทกนิกาย ชาตก นวกนิปาต.
ขุ.ชา.มหา. ขุทฺทกนิกาย ชาตก มหานิปาต
ขุ.เถร. ขุทฺทกนิกาย เถรคาถา
ขุ.ธ. ขุทฺทกนิกาย ธมฺมปทคาถา
ขุ.ปฏิ. ขุทฺทกนิกาย ปฏิสมฺภิทามคฺค.
ขุ.สุ. ขุทฺทกนิกาย สุตฺตนิปาต.
ที.ปา. ทีฆนิกาย ปาฎิกวคฺค.
ที.มหา. ทีฆนิกาย มหาวคฺค.
ที.สี. ทีฆนิกาย สีลกฺขนฺธวคฺค.
ม.อุป. มชฺฌิมนิกาย อุปริปณฺณาสก.
ม.ม. มชฺฌิมนิกาย มชฺฌิมปณฺณาสก.
วินย. วินัยปีฎก
ว.ว. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า -
กรมพระยาวชิรญาณวโรรส.
สํ.มหา. สํยุตฺตนิกาย มหาวารวคฺค.
สํ.ส. สํยุตฺตนิกาย สคาถวคฺค.
สํ.สฬ. สํยุตฺตนิกาย สฬายตนวคฺค.
สํ.อ. สํยุตฺตนิกาย อฏฺฐกถา
(สารตฺถปกาสินี.)
ส.ม. สวดมนต์ฉบับหลวง
ส.ส. สมเด็จพระสังฆราช (สา).